Wednesday, July 20, 2011

“สมดุลวิถี” ทางออกประเทศไทย โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

สมานฉันท์เป็นสิ่งที่ดีและเราใฝ่ฝันอยากให้เกิดขึ้น แต่สมานฉันท์ ไม่เพียงพอแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะเป็นเพียงการแก้ “อาการ” ของโรค แต่ไม่ได้แก้ “สาเหตุ” แท้จริงที่ก่อให้เกิดโรค เราต้องไปไกล
กว่านั้น นั่นคือ การสร้าง “สมดุลวิถี” หรือการสร้างสมดุลแห่งชาติ
การมองหาสมานฉันท์แห่งชาติ โดยไม่เข้าใจความสมดุลในชาติ หรือ วิถีที่สมดุลเราจะหลงทางและ
จะแก้ไม่ได้เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สมดุลวิถีคืออะไร?





สมดุลวิถี คือ การสร้างสมดุล 3 ด้าน คือ สมดุลทางอำนาจ สมดุลทางเศรษฐกิจ และสมดุลทางสังคม
ให้กับภาคี 5 ภาคีซึ่งเป็นผู้เล่นหลักในสังคมไทย ได้แก่ ภาคีการเมือง ภาคีข้าราชการ ภาคีนักธุรกิจ ภาคี
นักวิชาการ และภาคีประชาชน ให้ทุกฝ่ายได้รับการเฉลี่ยอำนาจ ผลประโยชน์ และมีที่ยืนทางสังคมอย่าง
เหมาะสม

สมดุลทางอำนาจ หมายถึง สมดุลทางการเมือง ถ้าผู้ถืออำนาจไม่แบ่งอำนาจทางการเมืองให้สมดุล
อย่างเหมาะสมแต่ยึดอำนาจหรือโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้คนบางกลุ่ม
เกิดความรู้สึกไร้อำนาจ ถูกปิดกั้นเสรีภาพ ถูกกดขี่ข่มเหง หรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เสมอภาค



เมื่อสมดุลอำนาจบกพร่องไป ย่อมนำมาซึ่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องแย่งชิงอำนาจกลับคืนมา ดังนั้น ถ้าสามารถสร้างสมดุลทางอำนาจได้อย่างเหมาะสมจะสลายความขัดแย้งได้อย่างรวดเร็ว

สมดุลทางเศรษฐกิจ หมายถึงสมดุลทางผลประโยชน์ คำกล่าวที่ว่า “ผลประโยชน์ขัดกันต้อง
บรรลัย” ยังคงเป็นจริงในทุกยุคทุกสมัย ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้คนรบราฆ่าฟันกันตลอดประวัติศาสตร์
โลกที่ผ่านมา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เมื่อใดก็ตามที่ขาดภาวะสมดุลทางผลประโยชน์ ผู้ถืออำนาจ
ไม่เฉลี่ยแบ่งผลประโยชน์กันอย่างทั่วถึง อย่างสมเหตุสมผล กลุ่มที่เสียประโยชน์จะออกมาเรียกร้องต่อต้าน
แต่หากสามารถสร้างสมดุลทางผลประโยชน์อย่างลงตัว ย่อมลดปัญหาความขัดแย้งลงได้

สมดุลทางสังคม หมายถึง สมดุลในพื้นที่ทางสังคม มี “ที่ยืน” ในสังคมในตำแหน่งแห่งที่ที่มี
เกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ถูกกีดกันหรือได้รับการปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองชั้นสอง หรือมีการใช้หลักปฏิบัติสองมาตรฐาน
ถูกกีดกันมิให้มีที่ยืนในสังคม สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป การปฏิบัติเช่นนี้
ก่อให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจ เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และแน่นอนว่า ย่อมตามมาซึ่ง
ความขัดแย้งและการต่อต้านด้วยความรุนแรง เพื่อแย่งชิงพื้นทื่ทางสังคมคืนมา ...

บทความจาก ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)


ได้รับการตีพิมพ์จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์การเมือง : ทัศนะวิจารณ์วันอังคารที่ : 18 มกราคม 2554

Monday, July 18, 2011

ความสำคัญของคำพูด

คำพูดเปรียบเสมือน "อาญาสิทธิ์" ที่มีอิทธิพลในการ กำหนดชีวิตเรา ความสุขหรือความทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับทุกคำพูดที่เรา กล่าวออกไปและทุกคำพูดที่เรารับเข้ามาในชีวิต

คำกล่าวข้างต้นเป็นข้อความตอนหนึ่ง ที่ผมเขียนไว้ใน หนังสือ "สุขวาทะ วาทะสร้างสุขในชีวิต" สะท้อนให้เห็นถึง ความสำคัญของคำ

พูดที่ดีและความร้ายแรงของคำพูดที่ไม่ดี ผมสังเกตว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชีวิตครอบครัวในปัจจุบันต้องล่มสลาย หรืออยู่ด้วยกันอย่างไร้ความสุข มาจากการใช้คำพูด "ทุกขวาทะ" ของสามีหรือภรรยา

เมื่อลองสำรวจคำพูดที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวทั่วๆ ไปของสังคมเรา ผมก็พบว่า "ปาก" หรือคำพูดที่สามีภรรยากล่าวออกมานั้นเป็นเหมือน "ศัตรูร้าย" ที่ลักลอบเข้ามาบั่นทอนสัมพันธภาพ และบางครั้งถึงขนาดทำลายครอบครัวได้สำเร็จไปเป็นจำนวนไม่น้อย



ครอบครัว…จู้จี้ขี้บ่น

…เมื่อภรรยากลับจากไปธุระนอกบ้าน เปิดประตูบ้านเข้ามาเห็นบ้านรกมาก ข้าวของวางเกลื่อนพื้นห้องรับแขก ลูกๆ เล่นของเล่นเสร็จก็ไม่เก็บเข้าที่ โต๊ะเก้าอี้กระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ซ้ำร้าย…สามีสุดที่รักก็นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อย่างมีความสุข ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ด้วยความอดรนทนไม่ได้ ภรรยาจึงเริ่ม บ่น บ่น บ่น และบ่นมากขึ้น อีกทั้งพยายามจัดแจง และสั่งการสมาชิกภายในบ้านว่าคนนั้นจะต้องทำสิ่งนั้น คนนี้ต้องทำอย่างนี้ แม้ว่าทุกคนจะทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เสียงบ่นก็ยังไม่ได้ยุติลงแต่เริ่มลามไปสู่เรื่องใหม่ในทันทีที่สายตาของเธอกวาดไปเห็นบางสิ่งบางอย่าง ที่ไม่อยู่ในร่องในรอย

สำหรับสามีแล้ว เสียงบ่นของภรรยาเป็นเหมือนเสียงของผึ้งเป็นฝูงๆ ที่บินมารุมตอมดัง "หึ่ง หึ่ง หึ่ง" และทุกครั้งที่ได้ยิน ก็จะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนเหมือนถูกผึ้งต่อย เขาเองไม่ชอบอยู่ในเหตุการณ์เช่นนี้เลย และคิดเสมอว่าสักวันจะต้องทนไม่ได้ อาจเกิดการตอบโต้รุนแรงหรือไม่ก็ต่างคนต่างอยู่ไปเสียเลย ในยามว่างเขามักจะหวนคิดถึงภาพภรรยาคนเดิมที่แต่ก่อนไม่จู้จี้ขี้บ่นและอยากให้เธอคนนั้นกลับคืนมา

ครอบครัว…บั่นทอนกำลังใจ

…เมื่อสามีคิดจะเริ่มทำธุรกิจใหม่ ภรรยาก็พูดอย่างดูถูกดูแคลนว่า
"ยังไม่เข็ดอีกหรือ ทำธุรกิจทีไรขาดทุนทุกที ยังคิดจะเริ่มต้นใหม่อีก ฉันว่าน่าจะไปสมัครทำงานเป็นลูกจ้างเขาจะดีกว่านะ"

คำพูดของภรรยาทำให้สามีรู้สึกเสียใจ หมดกำลังใจและสูญเสียความมั่นใจที่จะเริ่มต้น สร้างฐานะใหม่ ดังนั้นแม้ว่าเขาจะยังคงตัดสินใจเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป แต่ก็ทำด้วยความหดหู่ หมดกำลังใจ เพราะเขาต้องทนกับคำเยาะเย้ยของภรรยาแทนคำสนับสนุนและให้กำลังใจ

คำพูดของภรรยาทำให้สามีตกอยู่ในสภาพเหมือนคนที่ขับรถในความมืด ซึ่งนอกจากไม่รู้ หนทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไรแล้ว ยังมีคนที่นั่งข้างๆ คอยพูดกรอกหูตลอดเวลาว่ามีเหวลึกอยู่เบื้องหน้า ขับต่อไปรังแต่จะตกเหวตายเท่านั้น เขาจึงขับไปกลัวไป และในที่สุดก็ต้องจอดไม่กล้าขับไป จนถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

สามีภรรยานั้นเมื่ออยู่ด้วยกันไปนานวันเข้าย่อมรู้จักนิสัยใจคอกันดีขึ้นสิ่งไม่ดีซึ่งเคยมองข้าม หรือมองไม่เห็นก่อนแต่งงาน กลับค่อยๆ ผุดขึ้นตามวันเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นเหตุให้เกิดความไม่ชอบ ไม่พอใจ ความรู้สึกไม่ดีเหล่านี้ถูกสะสมพอกพูนจนกลั่นกรองกลายเป็นคำพูดที่มุ่งส่อเสียด ดูถูกดูแคลน และตอกย้ำข้อบกพร่องผิดพลาดของอีกฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ

คำพูดที่คอยบั่นทอนกำลังใจเหล่านี้นอกจากจะทำให้คนในครอบครัวสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองแล้ว ยังเป็นคำพูดที่ดูถูกศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นคน ซึ่งไม่มีใครที่รับฟังแล้วจะสามารถ ดำเนินชีวิตได้อย่างมีกำลังใจและมีความสุขต่อไป

ครอบครัว…ถามคำ-ตอบคำ

…สามีและภรรยาเมื่อกลับมาถึงบ้าน ต่างคนก็ต่างทำภารกิจประจำวันของตนตามหน้าที่ ไม่ได้มีเรื่องขัดเคืองใจกัน เพียงแต่ไม่มีเรื่องอะไรจะคุยกันเท่านั้น เรียกได้ว่าบ้านหลังนี้ "จิ้งจก" คุยเก่งที่สุดในบ้านเพราะสามีภรรยาแทบจะไม่ได้พูดคุยหรือสื่อสารอะไรกันเลย

สามีภรรยาที่แต่งงานกันไปนานๆ จะพบปัญหาหนึ่งก็คือไม่รู้จะพูดอะไรกันไม่มีเรื่องจะคุยกัน เพราะพบเห็นหน้ากันทุกวัน แต่กิจวัตรประจำวันทั้งในที่ทำงานและที่บ้านต่างคนต่างทำ ไม่เกี่ยวข้องกันและไม่อยากให้เกี่ยวข้องกันด้วย ดังนั้นเรื่องที่จะสนทนากันจึงตื้นเขิน และไม่มีสาระเมื่อพูดคุยเพียงไม่กี่ประโยคก็จบแล้ว ความเงียบจึงเข้าครอบครองเป็นเจ้าของบ้านนี้อยู่เสมอ ในที่สุดก็อาจกลายเป็นความเบื่อหน่ายที่ต้องพบกับความรู้สึกห่างเหิน ซ้ำซากจำเจ ชีวิตครอบครัวไม่ได้นำมาซึ่งความสุขอย่างที่ทั้งสองคนเคยคิด

ครอบครัว…ต่อว่าด่าทอ

…เมื่อภรรยารู้ว่าสามีพูดปดหรือทำงานบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สมควรหรือทำบางสิ่งให้ภรรยาโกรธอย่างมาก ภรรยาจึงตรงรี่เข้าไปต่อว่าสามีอย่างเสียๆ หายๆ ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงด้วยอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน เหมือนข้าศึกเข้าจู่โจมศัตรูอย่างไม่มันตั้งตัว โดยใช้ปากเป็นอาวุธสาดกระสุนชุดใหญ่เข้าใส่อีกฝ่ายหนึ่ง

กระสุนแห่งคำผรุสวาท คำหยาบคายที่ออกมาจากปากที่ครั้งหนึ่งเคยโปรยดอกไม้หอมให้แก่กัน เป็นกระสุนที่ทำให้ความรักในชีวิตสมรสถูกทำลาย หัวใจตายด้าน และรุกเร้าอารมณ์โกรธที่รุนแรงให้เกิดขึ้น สามีที่เคยนิ่งสงบอาจจะไม่สามารถทนนิ่งเงียบได้อีกต่อไป และยิ่งกระสุนนั้นรุนแรงและหยาบคายมากเท่าไร การตอบโต้จะยุ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น อาจถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายกันเรียกได้ว่าการต่อว่าด่าทอนี้ เป็นตัวบ่อนทำลายความมั่นคงของครอบครัวที่น่ากลัวมากที่สุดอันหนึ่ง

ตัวอย่างครอบครัวข้างต้นเป็นเพียงบางตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัวล่มสลายได้ เพราะคำพูดที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น หากเราต้องการธำรงครอบครัวแห่งความสุขไว้ให้นานๆ จงจำไว้ว่า "อย่าทำลายครอบครัวด้วยปาก

ผมมีข้อแนะนำง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องคำพูด สำหรับสามีภรรยาที่ปรารถนาครอบครัวที่มีความสุข อาทิ

คำพูดที่ดีเริ่มต้นจากใจที่ดีที่เต็มด้วยความรัก

คำพูดที่เรากล่าวออกมาจากปากนั้นสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเรา เราจะสามารถมีคำพูดที่ดี และเสริมสร้างครอบครัวได้ต้องเริ่มจากหัวใจที่มีความรักต่อคนในครอบครัว รักคู่สมรสของเรา รักลูกๆ ของเรา รักสมาชิกภายในบ้านและที่สำคัญก็คือมีความปรารถนาให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขและยิ่งยืนนาน ความรักที่เรามีจะช่วยทำให้เราแก้ไขนิสัยของตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น จากคนที่พูดจาโผงผาง ไม่คำนึงถึงจิตใจผู้อื่นความรักก็จะช่วยให้คำนึงถึงจิตใจของผู้ที่เรารัก ทำให้คำพูดนั้นอ่อนหวาน และเสริมสร้างมากกว่าที่จะบั่นทอนกัน

คำพูดที่กลั่นกรองด้วยเหตุผลและความรัก

น้ำที่เข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองจะบริสุทธิ์กว่าน้ำที่ตักจากแม่น้ำลำคลองฉันใด คำพูดที่กลั่นกรองด้วยเหตุผล และความรักย่อมบริสุทธิ์กว่าคำพูดที่ออกมาโดยไม่ผ่านความคิด แต่หากเป็นคำพูดที่ออกมาจากอารมณ์ที่ขุ่นมัว จิตใจที่โกรธและมุ่งร้าย ก็จะเป็นดั่งสายน้ำขุ่นข้นที่ไหลเชี่ยวกรากพัดทำลายสิ่งที่อยู่บนเส้นทางให้จมหรือเสียหายไป

ดังนั้นทุกครั้งก่อนที่เราจะพูดสิ่งใด ในขณะที่มีอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจ เรายิ่งต้องพยายามคิดทบทวนให้รอบคอบก่อนจะพูด พิจารณาว่าจริงเท็จเพียงใด ควรกล่าวออกไปหรือไม่ กล่าวออกไปแล้วคนรับจะรู้สึกอย่างไร ควรกล่าวเวลาใดจึงดีที่สุด เมื่อกลั่นกรองแล้วเห็นว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ต่อครอบครัวและคนที่เรารักจึงพูดออกไป

เราควรเรียนรู้ที่จะควบคุมคำพูด ควบคุมลิ้นของเรา ไม่ให้พูดในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ตามใจปาก โดยปล่อยให้พูดไปตามความปรารถนาของอารมณ์

ฝึกใช้คำพูดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเสริมคุณภาพครอบครัว

ในโลกแห่งความเป็นจริงทุกคนชอบและปรารถนาจะได้ยินคำพูดที่สะท้อนว่าผู้พูดคำนึงถึงจิตใจของผู้รับ เช่น คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน คำพูดที่ให้กำลังใจ คำพูดที่แสดงความเข้าใจ คำพูดที่สะท้อนความห่วงใย คำพูดที่มีเหตุผล คำพูดที่ให้อภัย ฯลฯ เพราะจะทำให้คนฟังมีหัวใจแช่มชื่น มีความสุขและมีกำลังใจ เปรียบดั่งต้นไม้ที่ได้รับน้ำบริสุทธิ์จากสายฝนที่ฉ่ำเย็นมาหล่อเลี้ยงรากให้เจริญเติบโต ออกดอกผลงดงาม

ดังนั้นสามีภรรยาจึงควรที่จะฝึกกล่าวคำพูดเหล่านี้ต่อกันโดยปฏิเสธคำพูดที่เป็น "ทุกขวาทะ" ทุกประเภท เพราะนั่นเปรียบเหมือนน้ำร้อนๆ ที่ราดรดลงมาและไม่มีต้นไม้ใดยืนต้นทนทานอยู่ได้ ในที่สุดต้นไม้นั้นย่อมเหี่ยวเฉาและตายลง

หากเราต้องการสร้างครอบครัวที่มีความสุขตลอดไป เราต้องควบคุมปากของเรา ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของความไม่มีเหตุผล หรือเป็นอาวุธที่ใช้ประหัตประหารสมาชิกในครอบครัวที่เรารัก แต่เราต้องมีคำพูดทุกครั้งที่พูดนั้นนำมาซึ่งความชื่นใจ กำลังใจและสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว แล้วครอบครัวของเราจะมั่นคงและยั่งยืนได้ด้วยคำพูดของเรานั่นเอง

บทความจาก ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)