Monday, December 26, 2011

มีบัตรประชาชนเด็กเป็นเรื่องดี แต่ต้องให้คุ้มค่า [clip]

เรื่องบัตรประชาชนเด็กอายุ 7 ขวบ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรเสียหาย มีทั้งข้อดี มีทั้งข้อด้อย แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ระดับหนึ่งเพราะว่าเด็กจำนวนมากประมาณ 8 ล้านคน ที่อยู่ 7ขวบขึ้นไปจนถึงวัยที่เคยทำบัตรประชาชนนั้น รอบนี้เราให้เด็กมีโอกาสเข้าไปรับบัตรประชาชนก็จะทำให้ปกกันการสูญสิทธิ์ของคนต่างด้าว บางครั้งแอบมาสวมสิทธิ์ และมีหลายครั้งที่แม้แต่ผู้ใหญ่ยังโดนสวมสิทธิ์ ถ้าหากบัตรประชาชนนี้เกิดขึ้นกับเด็ก สามารถทำให้เด็กนำไปแสดงตัวใช้ประโยชน์ในงานอื่นๆได้ แทนสูจิบัตรได้ เวลาเด็กไปไหนต้องการทำอะไรทำให้ไม่ต้องรอให้นำรูปพ่อแม่มาสวมมาใส่ หรือว่าต้องให้พ่อแม่มารับรองอะไรมากมาย

  

2 เพิ่ม 2 แก้ 2 ยุทธศาสตร์ สำหรับรัฐบาลใหม่



    ตั้งแต่ทราบผลการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีสื่อจำนวนมากทั้งในไทยและ
ต่างประเทศได้สอบถามความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจไทย ภายหลังการเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไร ประเด็นสำคัญที่ผมถูกถามบ่อยครั้ง คือ 
รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร?


    โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็น
นโยบายระยะสั้น เน้นสร้างคะแนนนิยมกับกลุ่มคนรากหญ้า หลายนโยบายเป็นเรื่องเล็ก
กระจัดกระจายไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในระยะยาว นโยบายส่วนใหญ่ไม่ใช่นโยบายในเชิง
การปฏิรูปหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในระยะยาว และที่สำคัญรัฐบาลยัง
บริหารจัดการหรือแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือเดิมๆ โดยเฉพาะการแทรกแซงกลไกตลาด
เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซล การควบคุมราคาสินค้า การรีไฟแนนซ์ หนี้นอกระบบ 
การลดภาษีและให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเงินกู้ซื้อบ้าน การขยายจำนวนผู้ที่ได้รับเบี้ยคนชรา
เป็นต้น

     ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจึงจำเป็นต้องดำเนิน
นโยบายที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศ สร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ เป็น
นโยบายที่มียุทธ-ศาสตร์และให้ความสำคัญกับประเด็นระยะยาว ซึ่งแนวทางที่ผมอยาก
เสนอ คือ “2 เพิ่ม 2 แก้ และ 2 ยุทธศาสตร์ 

เพิ่มที่ 1 คือ เพิ่มรายได้ให้ประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

     20 ปี ที่ผ่านมาการกระจายรายได้ของคนไทยแทบไม่ดีขึ้นเลย รายได้ประชากรกลุ่ม
ที่รวยที่สุดคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่ารายได้ประชากรที่จนที่สุด 11.88 เท่า ในปี พ.ศ. 2531 
ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 11.31 เท่าในปี พ.ศ.2552 

     แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลอภิสิทธิ์พยายามจะผลักดันหลายนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหา
นี้ แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการในภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การปฏิรูปโครงสร้าง
ภาษีให้เกิดความเป็นธรรม การเก็บภาษีที่ดิน และการกระจายการถือครองที่ดินให้
ประชาชน เป็นต้น ดังนั้นรัฐบาลใหม่ควรผลักดันเรื่องนี้และสานต่อนโยบายเหล่านี้
อย่างจริงจัง

เพิ่มที่ 2 คือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

     จากการจัดอันดับของ WEF และ IMD ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาต่ำ
มาก ประมาณร้อยละ 0.25 - 0.3 ของจีดีพีเท่านั้น นักวิจัยมีจำนวนน้อยรวมทั้งการที่การ
คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยยังไม่เข้มงวดนัก ผู้ผลิตผลงานไม่ได้รับการคุ้ม
ครองเท่าที่ควรทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมและผลงานใหม่ๆ เป็นต้น

     รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และการสร้าง
นวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงบประมาณในส่วนของวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพีให้มาก
ขึ้น การสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะโดยการให้แรง
จูงใจด้านภาษีหรือการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ รวมทั้งการเพิ่มบุคลากรด้านวิจัยและ
พัฒนาให้มากขึ้นและการสร้างเมกะโปรเจ็คด้านวิจัยและพัฒนา เป็นต้น 

แก้ที่ 1 คือ แก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน

     ปัจจุบันมีข้อมูลจากภาคธุรกิจว่า นักธุรกิจต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้นักการเมืองสูงถึง
ร้อยละ 30 - 40 และต้องจ่ายให้ข้าราชการร้อยละ 10 – 20 ทำให้มีงบประมาณที่หายไป
จากการจัดซื้อจัดจ้างรั่วไหลสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาทในแต่ละปี 
     
     การคอร์รัปชันทำให้ธุรกิจไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพใน
การผลิตสินค้าและให้บริการ ทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ไม่มีคุณภาพ ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนาจากงบประมาณที่รั่วไหล นักลงทุนต่างชาติมีอุปสรรค
ในการเข้ามาลงทุนในไทย เป็นต้น 

     แม้เอกชนไทยจะหันมาจริงจังในเรื่องนี้ แต่ว่าความพยายามจะไม่ได้ผลหากภาครัฐ
และราชการไม่ร่วมมือ ผมเคยเสนอให้มีการขึ้นเงินเดือนให้ ส.ส. ส.ว. และผู้ดำรงตำ-
แหน่งทางการเมือง ประกอบกับสร้างกลไกการแข่งขันมากขึ้น โดยเป็นการแข่งขัน ที่
เสมอภาคและไม่ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของผู้อาสาตัวเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อให้
คนเก่งสามารถเข้าสู่ตำแหน่งได้มากขึ้น ที่สำคัญต้อง เพิ่มโทษการคอร์รัปชันและการ
ทุจริตให้รุนแรงขึ้น คดีทุจริตของนักการเมืองนั้นต้องไม่มีอายุความ เป็นต้น ปัจจุบันมี
การขึ้นเงินเดือนให้ ส.ส. ส.ว. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่กลไกการแข่งขัน
และการตรวจสอบต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง 

แก้ที่ 2 คือ แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการพัฒนาฝีมือ

    แรงงานไทยมีปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพ แรงงานระดับล่างขาดแคลนขั้นวิกฤติ
แรงงานระดับสูง (ระดับปริญญาตรีขึ้นไป) มีปัญหาว่างงานสูง เนื่องจากเรียนไม่ตรง
สายและไม่มีคุณภาพ 

     สำนักข่าวรอยเตอร์เคยวิเคราะห์เอาไว้ว่าระบบการศึกษาของไทยนั้นไม่เอื้อต่อการ
ก้าวไปข้างหน้าของประเทศ แรงงานที่มีความสามารถสูง ทักษะสูง พูดภาษาอังกฤษ
ได้นั้นหายากในประเทศไทยเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ไต้หวันและจีน ซึ่งจะเป็นเหตุให้
ประเทศไทยหมดความน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติในที่สุด 

      ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องวางแผนการใช้กำลังคนของประเทศ ปรับทิศทางอุตสาห-
กรรม ให้ใช้แรงงานระดับสูงเพิ่มขึ้นและลดการใช้แรงงานระดับล่างลง ควรมีการ
กำหนดเป้าหมายการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่เน้นเพียงเรื่องการ
เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือค่าจ้างซึ่งเป็นเรื่องปลายเหตุเท่านั้น 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ ยุทธศาสตร์สำหรับการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC


    ไทยกำลังเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2015 โดยประชาคมเศรษฐกิจ
อาเซียน (AEC) เป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมทุกภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการค้าสินค้าและ
บริการ รวมทั้งการลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงาน

    ไทยจะได้ประโยชน์จากการ AEC โดยผู้ผลิตจะมีตลาดและฐานการผลิตที่ใหญ่ขึ้น ผู้
บริโภคได้บริโภคสินค้าบริการราคาถูกลง ช่วยดึงดูดการค้าการลงทุนจากนอกภูมิภาค 
ในขณะเดียวกันผลกระทบด้านลบ คือ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่งขันในอาเซียน
และประเทศอื่นที่ทำ FTA กับอาเซียน การย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาค การแย่งทรัพยากรและแรงงานมีฝีมือทำให้ต้นทุนบางด้านเพิ่มสูงขึ้น สินค้าบางประเภท
มีราคาสูงขึ้น เพราะส่งออกได้มากขึ้นทำให้อุปทานในประเทศลดลง เป็นต้น 

     ปัจจุบันความตระหนักถึงการเข้าเป็น AEC ของคนไทยยังน้อย ภาครัฐต้องเดินหน้า
ให้ความรู้แก่ประชาชน สนับสนุนผู้ประกอบการให้ปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะมี
มากขึ้น ปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างเด็กและเยาวชนในอนาคต
ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาต่างประเทศหรือ
วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ ยุทธศาสตร์ทางการค้าที่ชัดเจนสำหรับทศวรรษหน้า 

     เวลานี้ไทยมีบทบาทในเวทีโลกค่อนข้างน้อย เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่ได้ดำเนิน
นโยบายอย่างมียุทธศาสตร์โดยเฉพาะในเรื่องต่างประเทศ 

    ในอนาคตผมคิดว่าในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว ไทยต้องแทรกตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง
ของ BRICSA ซึ่งหมายถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน (ASEAN – A) ต้องเข้าไปจับมือกับ
ประเทศในกลุ่ม BRICS ที่ประกอบด้วยการรวมกันของ 5 ประเทศ คือบราซิล (B) รัสเซีย (R) อินเดีย (I) จีน (C) และแอฟริกาใต้ (S) ซึ่งเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการล่าสุด
ของกลุ่ม 

    ผมเสนอให้นำอาเซียนเข้าไปผนวกกับ BRICS เนื่องจาก ลำพังประเทศไทยมีความ
น่าสนใจน้อย ไม่ดึงดูดให้กลุ่มประเทศ BRICS มาร่วมด้วย ประกอบกับการที่อินโดนีเซีย
พยายามจะสอดแทรกตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS เพื่อจะเป็น BRICSI (I = Indonesia) ดังนั้นไทยควรผลักดันอาเซียนเข้าไปร่วมกับ BRICS เพื่อไม่ให้บทบาทและ
ภาพลักษณ์ของอินโดนีเซียทิ้งห่างประเทศไทยในการเป็นผู้นำของอาเซียนมากกว่านี้ 

    เวลานี้ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว โฉมหน้าของคณะ
รัฐมนตรีชุดใหม่เริ่มปรากฏให้ประชาชนเห็นเป็นเค้าลางแล้ว รัฐบาลควรเร่งรีบในการ
ทำงาน เพื่อไม่ให้การพัฒนาของไทยล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราไปมากกว่านี้ ความท้าทายของรัฐบาลใหม่ คือ จะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทำให้
เกิดการปฏิรูปประเทศในหลายด้านอย่างเร่งด่วน จริงจัง และต่อเนื่อง ไม่ให้เป็นเหมือน
ดังในอดีตที่ผ่านมา
 





อ่านบทความเรื่องอื่นๆ ได้ที่     www.drdancando.com


More about  : Timebanksociety.com| www.drdancando.com| www.kriengsak.com


Create by : Kriengsak.com