Wednesday, April 25, 2012

รัฐบาลจำเป็นต้องค้ำประกันหนี้รัฐวิสาหกิจหรือไม่ ตอนที่ 2

ทั้งนี้ การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจอาจเป็นไปเพื่อการจัดหาสินค้าหรือบริการสาธารณะให้กับประชาชนในราคาที่เหมาะสม หรือลงทุนในภาคการผลิตที่เป็นประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคงของประเทศ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จึงได้รับสิทธิพิเศษจากกฎหมายและนโยบายของรัฐ และสินทรัพย์บางส่วนของรัฐวิสาหกิจถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ของแผ่นดิน เช่นที่ดินที่ได้จาการเวนคืนเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนไปให้เอกชนได้
โดยหลักการขั้นพื้นฐาน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องค้ำประกันอย่างน้อยเท่ากับมูลค่าหนี้ส่วนที่เกินจากมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดที่ไม่ใช่สินทรัพย์สาธารณะ เพราะเมื่อรัฐวิสาหกิจนั้นขาดความสามารถในการชำระหนี้ ก็ไม่สามารถขายสินทรัพย์ดังกล่าวให้กับเอกชนได้ ตัวอย่างเช่น หากรัฐวิสาหกิจหนึ่งมีสินทรัพย์สาธารณะ 60 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ที่สามารถจำหน่ายถ่ายโอนให้เอกชนได้ 40 ล้านบาท หากรัฐวิสาหกิจนี้มีหนี้ทั้งหมด 70 ล้านบาท รัฐบาลก็ควรค้ำประกันหนี้ขั้นต่ำ 30 ล้านบาท
หลักการอีกประการหนึ่ง รัฐบาลยังจำเป็นต้องค้ำประกันหนี้สาธารณะของรัฐวิสาหกิจบางส่วน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจนั้นๆ สามารถผลิตสินค้าหรือจัดหาบริการที่จำเป็นต่อสวัสดิภาพของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ โดยมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ (สามารถกู้เงินที่มีดอกเบี้ยต่ำได้) แต่หากรัฐวิสาหกิจนั้นมีฐานะการเงินมั่นคงและมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องค้ำประกันหนี้เต็มจำนวน เพราะรัฐวิสาหกิจดังกล่าวสามารถกู้เงินได้ด้วยต้นทุนต่ำอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี หากสินค้าและบริการดังกล่าว ภาคเอกชนสามารถผลิตได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติแล้ว รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ผลิตสินค้าและบริการนี้อีกต่อไป เพราะจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมและการบิดเบือนกลไกตลาด เพราะรัฐวิสาหกิจมีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่าภาคเอกชนที่เป็นคู่แข่ง
เมื่อพิจารณาแนวคิดการขายหุ้น ปตท.และการบินไทยด้วยหลักการข้างต้น ธุรกิจของรัฐวิสาหกิจทั้งสองเป็นธุรกิจที่ภาคเอกชนรายอื่นสามารถจัดหาสินค้าและบริการเพื่อมาแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจดังกล่าวได้ การค้ำประกันหนี้โดยรัฐบาลอาจทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด และทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ได้เปรียบภาคเอกชนรายอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน
ผมจึงเสนอว่า สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลในรัฐวิสาหกิจทั้งสอง และการค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจขั้นต่ำควรอ้างอิงจากร้อยละของมูลค่าของสินทรัพย์สาธารณะต่อมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดในรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ เพื่อให้สะท้อนว่ารัฐบาลเป็นเจ้าของสินทรัพย์สาธารณะที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจนั้นๆ และจะค้ำประกันหนี้เฉพาะในสินทรัพย์ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของเท่านั้น ไม่ได้ค้ำประกันหนี้เต็มจำนวนเหมือนที่เป็นมาอีกต่อไป ไม่ว่าองค์กรนั้นจะเรียกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ก็ตาม
กล่าวโดยสรุป ผมเห็นว่า รัฐบาลจึงยังจำเป็นต้องค้ำประกันหนี้ก้อนเดิมของรัฐวิสาหกิจอยู่ต่อไป เพื่อมิให้เกิดการปกปิดซ่อนเร้นหนี้สาธารณะและผลกระทบรุนแรงต่อความเชื่อมั่น แต่ส่วนหนี้ที่รัฐวิสาหกิจจะก่อขึ้นใหม่ รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องค้ำประกันหนี้เต็มจำนวนก็ได้
แหล่งข้อมูล:
http://www.drdancando.com/
http://www.kriengsak.com/

รัฐบาลจำเป็นต้องค้ำประกันหนี้รัฐวิสาหกิจหรือไม่ ตอนที่ 1

รัฐบาลจำเป็นต้องค้ำประกันหนี้รัฐวิสาหกิจหรือไม่
ดร.วีระพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เสนอแนวคิดการขายหุ้นที่รัฐบาลถืออยู่ในรัฐวิสาหกิจบางแห่ง (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)) ให้กับกองทุนวายุภักษ์ เพื่อที่รัฐบาลจะไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และทำให้หน่วยงานดังกล่าวไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องค้ำประกันหนี้ของทั้งสององค์กรนี้และทำให้ยอดหนี้สาธารณะลดลง
ทันทีที่แนวคิดนี้ถูกเผยแพร่ออกมาก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากอดีตรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลชุดนี้ ข้อโต้แย้งสำคัญคือ รัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อการก่อหนี้ได้มากขึ้น โดยที่สัดส่วนหนี้สาธารณะที่ปรากฏยังไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งถือเป็นการตบแต่งบัญชี ซ่อนหนี้สาธารณะไม่ให้ปรากฏ ทั้งที่รัฐบาลยังค้ำประกันหนี้ดังกล่าวอยู่
ผมเห็นด้วยว่าหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลยังมีภาระค้ำประกันอยู่นั้นยังคงต้องปรากฏในตัวเลขหนี้สาธารณะ เพราะในเชิงพฤตินัยรัฐบาลยังต้องรับชำระหนี้ หากรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และรัฐบาลไม่ควรยกเลิกการค้ำประกันหนี้เดิมในทันทีที่ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะจะสร้างผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ของ ปตท.และการบินไทยอย่างรุนแรง และทำลายความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้น นักลงทุน และเจ้าหนี้ของทั้งสององค์กร
อย่างไรก็ดี แนวคิดของประธาน กยอ.จุดประเด็นคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศ กล่าวคือ รัฐบาลจำเป็นต้องค้ำประกันหนี้ทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจทุกองค์กรหรือไม่
ในความเห็นของผม มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องค้ำประกันหรือค้ำประกันเพียงบางส่วนให้กับรัฐวิสาหกิจบางประเภท เช่น รัฐวิสาหกิจที่มีสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์สาธารณะ รัฐวิสาหกิจที่มีฐานะการเงินที่มั่นคงและมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง รัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้จัดบริการสาธารณะหรือมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:
http://www.drdancando.com/
http://www.kriengsak.com/

รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายค่าจ้าง 300 บาทอย่างไร?



เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ใหม่ นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันก็กลายเป็นประเด็นที่
มีการกล่าว
ถึงค่อนข้างมาก ทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านจนเกิดเป็นข้อโต้แย้ง
รายวันที่ปรากฏในหน้าสื่อ

     กลุ่มที่ออกตัวคัดค้านนโยบายนี้อย่างชัดเจน คือ สภาอุตสาหกรรมแห่ง
ประเทศไทย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศโดยให้เหตุผล
ว่าจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น สินค้าไทย
แข่งขันไม่ได้ ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นจนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ต้องปิดตัวลง และนักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ รวมทั้งแรงงาน
ต่างด้าวทะลักเข้าประเทศมากขึ้น

      ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนนโยบายนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ทำตามสิ่งที่ได้
หาเสียงไว้ โดยมีเหตุผลว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันไม่เพียงพอสำหรับ
การเลี้ยงชีพการเพิ่มค่าจ้างจะไม่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะต้นทุน
แรงงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนทั้งหมด และราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นเพียง
ระยะสั้นๆ เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ต่อมาผู้ผลิตจะผลิตสินค้า
เข้าสู่ตลาดมากขึ้นทำให้ราคาต่ำลง และการขึ้นค่าจ้างยังไม่ทำให้ไทยแข่งขัน
ไม่ได้เพราะค่าจ้างของหลายประเทศในเอเชียยังสูงกว่าไทย และจะผลักดันให้
เกิดการปรับโครงสร้างการผลิต นอกจากนี้เหตุผลที่ต้องให้ค่าแรงเท่ากันเพราะ
ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และเพื่อสนับสนุนให้คนทำงานอยู่ในถิ่นฐานเดิมไม่
ต้องอพยพเข้ามาทำงานใน กทม. 

      ภายใต้กระแสการถกเถียงของแต่และฝ่าย ผมเข้าใจความเดือดร้อนของ
ฝ่ายผู้ประกอบการที่คัดค้านนโยบายนี้ เพราะหากพิจารณาอย่างตรงไปตรง
มาด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ สอท.
ให้เหตุผลนั้นจะเกิดขึ้นจริง (ดังที่ผมได้ให้ความเห็นไปแล้วในบทความชิ้น
ก่อนๆ) แต่ผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ กับรัฐบาลใหม่จะทำตามที่หาเสียง
ไว้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ และมาตรการรองรับที่จะออกมาเพื่อชดเชยต้นทุนให้
แก่ผู้ประกอบการและรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

      แม้เป็นความจริงที่ว่า ต้นทุนค่าจ้างแรงงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งหรือส่วนน้อย
ของต้นทุนทั้งหมด แต่การขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศหรือเพิ่มขึ้นทันทีถึงร้อยละ 40 เป็นอย่างน้อย (ต่างจังหวัดจะเพิ่มมากกว่านี้) ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับ ภาวะต้นทุนสูงอยู่แล้ว ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน ต้นทุนการขนส่งและ ต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยสูงขึ้น) 

      สำหรับความเห็นที่ว่า นโยบายนี้จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในระยะสั้นๆ 
จากการที่ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ราคาจะปรับตัวลงเพราะผู้ผลิตจะ
ผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้นนั้น ผมเห็นว่ามีส่วนจริงอยู่บ้างแต่ผมเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือปัจจัยด้านต้นทุน(ค่าจ้าง) มากกว่าปัจจัยด้านกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น 

      ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า การขึ้นค่าจ้างจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถใน
การแข่งขันนั้นแม้จริงอยู่ว่าหลายประเทศในเอเชียมีอัตราค่าจ้างสูงกว่าไทยแต่
อีกหลายประเทศก็มีอัตราค่าจ้างต่ำกว่าไทย ยิ่งไปกว่านั้นภาคการผลิตของไทย
ส่วนใหญ่ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงผู้ผลิตจำนวนมากเป็นเพียงผู้รับ
จ้างผลิตหรือประกอบชิ้นส่วนเท่านั้น จึงมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง
ของต้นทุนได้ไม่มากนักประกอบกับภาคการผลิตในไทยส่วนหนึ่งเป็นการลงทุน
ของบริษัทข้าม ชาติที่พร้อมจะย้ายฐานการผลิตหากการลงทุนในประเทศไทย
มีต้นทุนสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้ 

      อย่างไรก็ตาม ผมก็เห็นใจความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานที่ต้องรับภาระ
ค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก แต่รายได้กลับเพิ่มไม่ทันกับรายจ่าย ผมจึงเห็นด้วยว่า
ค่าจ้างขั้นต่ำจำเป็นต้องเพิ่มขึ้น และเห็นด้วยกับความพยายามในการกระจาย
ความเจริญสู่ท้องถิ่น เพื่อจูงใจไม่ให้ประชาชนอพยพมาทำงานในเมือง 

      แต่หากปัจจัยอื่นๆ ยังเหมือนเดิม ผมไม่เห็นด้วยนักกับการเพิ่มอัตราค่าจ้าง
ขั้นต่ำให้มีอัตรา 300 ต่อวันเท่ากันทั่วประเทศโดยทันที เพราะนอกจากจะทำให้
เกิดผลกระทบต่อภาคการผลิตโดยไม่มีเวลาให้ปรับตัวแล้ว การเพิ่มค่าจ้างเท่า
กันทั่วประเทศจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ เพราะจะมีแรงงาน
ส่วนหนึ่งที่ยังมีงานทำโดยได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่แรงงาน อีกส่วนหนึ่งจะถูก
ปลดออกจากงานหรือถูกผลักดันให้เป็นแรงงานนอกระบบ 

     ยิ่งไปกว่านั้นแรงงานจะยิ่งอพยพเข้ามาทำงานในเมืองหรือ กทม.มากขึ้นอีก เพราะค่าจ้างในชนบทที่สูงขึ้นมากทำให้ไม่มีใครเข้าไปลงทุน ส่วนผู้ที่เคยลงทุนในชนบทจะย้ายออกมาตั้งโรงงานในเมืองที่มีค่าจ้างเท่ากัน แต่มีโครงสร้าง
พื้นฐานที่ดีกว่าและใกล้ตลาดมากกว่า แม้ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะจูงใจให้แรงงาน
ย้ายกลับไปทำงานในบ้านเกิดของตนมากขึ้น แต่กลับไม่มีนายจ้างที่ต้องการ
จ้างแรงงาน 

      ถึงแม้ว่าพรรคเพื่อไทยและกลุ่มผู้สนับสนุนได้เสนอให้มีนโยบายกระจาย
ความเจริญสู่ต่างจังหวัดการเพิ่มความรู้และทักษะเพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานการลดค่าครองชีพของแรงงาน ทั้งการจัดสวัสดิการโดยรัฐหรือ สนับสนุนให้สถานประกอบการจัดสวัสดิการให้แก่แรงงาน การจัดการกับการผูกขาดใน
ระบบเศรษฐกิจการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม และการยกระดับการ
ผลิตของภาคการผลิต ซึ่งล้วนเป็นนโยบายที่ควรดำเนินการและควรเร่งทำให้
เกิดขึ้น แต่กรอบเวลาของการดำเนินนโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องระยะยาว ไม่สอด
คล้องกับนโยบายค่าจ้างซึ่งจะสร้างผลกระทบในระยะสั้นทันที 

     ขณะที่การลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ยังไม่เพียงพอ
กับการชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยทันที เพราะธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่ไม่เสีย
ภาษีนิติบุคคลหรือเสียค่อนข้างน้อย (ธุรกิจส่วนหนึ่งอาจหลบเลี่ยงภาษี) จึงไม่
ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้มากนัก แต่กระนั้นผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 

     (แกมประชด) ของ สอท.ที่ให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ในการจ่ายส่วนต่างของค่าจ้าง เพราะจะสร้างภาระต่องบประมาณแผ่นดินสูง
มาก 

      ผมเสนอว่า เพื่อทำตามสัญญาที่ได้หาเสียงไว้ รัฐบาลใหม่ควรทยอยขึ้นค่า
จ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเฉพาะใน กทม.และจังหวัดหรืออำเภอหรือเขตปกครองในต่างจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงและเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงสามารถแบกรับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นมากได้ ส่วนพื้นที่อื่นๆ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้เพิ่มอัตราค่าจ้างลดหลั่นลงไป 

      ส่วนมาตรการรองรับผลกระทบในระยะสั้น รัฐบาลควรผลักดันมาตรการลด
ต้นทุนด้านอื่นของผู้ประกอบการและลดค่าครองชีพของประชาชนตลอดจน
สร้างตำแหน่งงานเพิ่มเติมเพื่อรองรับแรงงานที่อาจจะถูกปลดออกจากงาน เช่น
การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ เพื่อ
ลดต้นทุนการขนส่งในระยะยาว) การฝึกอบรมแรงงานในตรงกับความต้องการ
ของต่างประเทศ เป็นต้น 

      อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นเหตุผลในการขึ้นค่าจ้างซึ่ง ผมคิดว่าน่าสนใจ คือ 
การใช้นโยบายค่าจ้างแรงงานเป็นมาตรการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้าง
การผลิต ผมเห็นด้วยว่า รัฐบาลควรตั้งเป้าหมายการขึ้นอัตราค่าจ้างที่สมเหตุ
สมผล ในระยะกลาง-ยาว เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจของไทย
ปรับตัว เพื่อยกระดับการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างนวัตกรรมมากขึ้น โดย
รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายระยะยาวดังข้อเสนอข้างต้นของกลุ่มผู้สนับสนุน
ควบคู่ไปด้วย
แหล่งข้อมูล:
http://www.drdancando.com/
http://www.kriengsak.com/