Tuesday, November 1, 2011

ควรหรือที่รัฐจะเก็บภาษีชา กาแฟ

การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

ควรหรือที่รัฐจะเก็บภาษีชา กาแฟ
ประเด็นการเก็บภาษีบาปชา กาแฟ เป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม ถึงความเหมาะสมและสมควรเพราะประชาชนส่วนใหญ่มองว่าชา กาแฟ ไม่น่าจะอยู่ในข่าย

จากการที่ รมช.คลัง เตรียมปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ทั้งระบบ โดยเฉพาะภาษีบาป (SIN TAX) อาทิเช่น สุรา ยาสูบ สถานประกอบการด้านบันเทิง เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงชา กาแฟ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยในเบื้องต้นจะเก็บภาษีชาและกาแฟ ที่บรรจุอยู่ในกล่องและกระป๋อง ปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 30,000 ล้านบาท



หากพิจารณาว่า รัฐควรเก็บภาษีบาปเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผมเห็นด้วยกับการเก็บภาษีบาปมากขึ้น แต่การเพิ่มภาษีบาปมี 2 ประเด็นที่ควรคำนึงถึง คือ



ประการแรก ต้องเก็บภาษีกับสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสังคม (negative externality) จริงๆ อาทิเช่น ภาษีสถานประกอบการด้านบันเทิง เพราะทำให้สังคมแย่งลง หรือภาษีสิ่งแวดล้อม ที่ควรเก็บเพราะทำให้ประชาชนเดือดร้อน



ประการที่สอง การเก็บภาษีต้องมีประสิทธิผลในการลดการบริโภคสินค้า ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้จริง



อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเก็บภาษีชา กาแฟ รัฐบาลต้องสร้างความชัดเจนในประเด็นดังกล่าว อาทิเช่น



1. หากต้องการเก็บภาษีชา กาแฟ ต้องอธิบายให้ชัดเจน ว่า ชา กาแฟเข้าข่ายสินค้าบาปอย่างไร



วัตถุประสงค์หลักของการจัดเก็บภาษีบาป คือ ลดการบริโภคสินค้าบาป เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค และผลกระทบต่อสังคม เพื่อนำรายได้จากภาษีไปป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคสินค้าบาป อาทิเช่น การเก็บภาษีสุรา จะนำงบส่วนหนึ่งไปให้แก่กองทุนสร้างสุขภาพ (สสส.) เพื่อการรณรงค์ลดการดื่มสุรา การรักษาพยาบาล และลดอุบัติภัย



ในขณะที่ความเข้าใจของสังคม มองว่า การเก็บภาษีชา กาแฟ เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะหาเงินเข้าคลังเป็นวัตถุประสงค์หลัก โดยขูดรีดจากประชาชน เพราะการที่รัฐบาลมองว่า ชา กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ซึ่งทำลายสุขภาพ แต่ประชาชนไม่ได้มองว่า ชา กาแฟ เป็นสินค้าบาป ที่ผ่านมา มีการโฆษณาโดยทั่วไปว่า ชาเป็นเครื่องดื่มที่บำรุงสุขภาพ และรัฐบาลไม่เคยมีมาตรการควบคุมการบริโภคกาแฟ และมีงานวิจัยออกมาว่า กาแฟมีผลดีสามารถรักษาโรคร้ายบางโรคได้ ในขณะที่กาแฟบางชนิดไม่มีกาเฟอีน หรือการที่มีสถิติว่าคนที่ดื่มเหล้าองุ่นวันละ 1 แก้ว สามารถป้องกันโรคหัวใจตีบได้ กรณีเหล่านี้รัฐต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่า จะนำมาตรฐานใดมาวัด ว่าควรเก็บภาษีหรือไม่



ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการเก็บภาษีบาปจากชา กาแฟ ต้องอธิบายให้ได้ว่าชา กาแฟ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือสังคมอย่างไร โดยอ้างอิงผลการวิจัยที่เชื่อถือได้ มีการส่งสัญญาณอย่างชัดเจน ว่า รัฐไม่สนับสนุนการบริโภคชา กาแฟ และรัฐจะนำเงินภาษีนี้มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด และลดผลกระทบทางสังคมด้านใด รายได้จากภาษีควรใช้เพื่อลดผลกระทบจากการดื่มชา กาแฟ รายได้ที่เข้าคลังเพิ่มขึ้น ควรเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก



2. การเพิ่มภาษีบาป รัฐบาลต้องมั่นใจว่าจะช่วยลดการบริโภคสินค้าบาปได้จริง



หากวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ การเพิ่มภาษีแก่สินค้าบาป จะทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นส่งผลทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภคสินค้านั้น แต่หากขึ้นภาษีมากเกินไปอาจจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาตลาดมืด อาทิเช่น หากขึ้นภาษีสุรามากเกินไป จะจูงใจให้เกิดการผลิตและขายเหล้าเถื่อนมากขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคไม่ลดการดื่มสุรา



เมื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลของการเพิ่มภาษีชา กาแฟ ต่อการลดการบริโภคชา กาแฟ การที่รัฐบาลเก็บภาษีเฉพาะชา กาแฟในรูปกล่องและกระป๋องเท่านั้น อาจทำให้ผู้บริโภคหันไปดื่มชา กาแฟแบบชงมากขึ้น อาทิเช่น กาแฟสด กาแฟโบราณ เพราะเป็นสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ อาจทำให้มาตรการนี้ไม่มีประสิทธิผลในการลดการบริโภคชา กาแฟ ได้มากนัก และทำให้รัฐจัดเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้



ดังนั้น หากรัฐบาลเชื่อว่า ชา กาแฟ เป็นสินค้าบาป รัฐบาลควรเก็บภาษีชา กาแฟ ทั้งระบบ กล่าวคือ ต้องเก็บภาษีจาก ใบชา เมล็ดกาแฟ ที่นำมาชงด้วยเพื่อทำให้ราคาของชา กาแฟ ทุกประเภทเพิ่มขึ้นทั้งหมด



นอกจากนี้ ผมเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาเก็บภาษีจากกิจกรรมอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม โดยจัดเก็บจากผู้ที่ก่อมลพิษ อาทิเช่น โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ขับขี่ยานพาหนะ เป็นต้น



ผลการศึกษา (TDRI) พบว่าความเสียหายจากมลพิษในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจากประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2520 มาเป็นประมาณ 17,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2543 และปัญหามลพิษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ มลพิษทางอากาศ



วัตถุประสงค์ของการเก็บภาษี เพื่อให้ผู้ก่อมลภาวะต้องรับภาระต้นทุนที่ก่อขึ้น เพื่อนำรายได้จากภาษีมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยอัตราภาษีขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น ระดับปัญหามลภาวะของแต่ละพื้นที่ ขนาดของโรงงาน พลังงานที่ใช้ คุณสมบัติของเครื่องจักรที่ใช้ผลิต อายุของเครื่องจักร และระยะเวลาในการเดินเครื่อง



เท่าที่ผมทราบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ศึกษาและจัดเตรียมร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วชื่อว่า "พ.ร.บ. เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ......" หากผลักดันกฎหมายนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสังคม และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ



การพิจารณาการเก็บภาษีของรัฐบาล ไม่ควรคิดแต่ว่าเพื่อจะทำให้รายได้มากขึ้น แต่ต้องคิดทั้งระบบว่า หากดำเนินการแล้ว ไม่เพียงแต่ทำให้รัฐรายได้มากขึ้น แต่มีผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศด้วย หากทำอะไรเพียงฉาบฉวย จะมีผลร้ายต่อประเทศและประชาชนในระยะยาวได้