Saturday, March 31, 2012

เปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างสร้างสรรค์: กรณีศึกษาริคาร์โด เซมเลอร์และบริษัทเซมโก้ (บราซิล) (2)

คอลัมน์ : แนวคิด ดร.แดน

สัปดาห์ที่แล้วผมได้เล่าให้ฟังว่าริคาร์โด เซมเลอร์ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัทเซมโก้อย่างไรบ้างในเรื่องการ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดี สัปดาห์นี้ผมจะเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่นๆ ที่น่าสนใจครับ

เลือกคนที่ต้องการทำงานจริง คนที่มีความสามารถและเป็นที่ต้องการของทีม

พนักงาน ที่เซมโก้นั้นมีแรงจูงใจที่จะกระตือรือร้นในการทำงาน มีความตื่นตัว มีความปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งบริษัทเซมโก้มีกลไกหลายอย่างที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศเช่นนั้น เช่น

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดี

พนักงานประมูลเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ตนเองต้องการ พนักงานแต่ละคนที่เข้ามาทำงานนั้นสามารถเลือกทำสิ่งที่ตนเองอยากทำและสนใจ อย่างแท้จริงโดยการประมูลตำแหน่งในบริษัท โดยการประมูลนั้นจะถูกยอมรับหรือถูกปฏิเสธนั้นขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ของพนักงาน อัตราเงินเดือนที่ร้องขอ และความปรารถนาของเพื่อนร่วมงานที่จะจ้างคนเหล่านั้น

การจ้างพนักงาน ใหม่หรือการไล่พนักงานออกของบริษัทเซมโก้นั้นอาศัยการโหวตตามหลักการ ประชาธิปไตย โดยพนักงานปัจจุบันเป็นผู้ลงคะแนนโหวตอย่างยุติธรรม นอกจากนี้ยังอาศัยการสัมภาษณ์โดยกลุ่ม ผู้ที่เข้ามาสมัครงานจะต้องถูกสัมภาษณ์โดยกลุ่มของพนักงานเซมโก้เพื่อทราบ ทัศนคติในการทำงาน มุมมองโลกทัศน์ หากผู้สมัครมีความสามารถ มีมุมมองโลกทัศน์ที่ดี น่าสนใจ พนักงานปัจจุบันประเมินแล้วว่าจะสามารถสนับสนุนการทำงานของทีมได้ ผู้สมัครคนนั้นจะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเซมโก้

พัฒนาคนด้วยการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง

ผู้ จัดการในบริษัทเซมโก้มีบทบาทที่สำคัญคือเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้แก่พนักงาน เป็นผู้สนับสนุนในการตัดสินใจและเป็นผู้ให้การฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อสนับ สนุนพนักงานในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ที่บริษัทเซมโก้มีการอบรมพนักงานในการอ่านและตีความข้อมูลทางการ เงิน เช่น งบดุลและงบกำไรขาดทุน เพื่อให้พนักงานสามารถวิเคราะห์และเข้าใจสถานการณ์การเงินขององค์กร ของทีม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาการทำงานขององค์กรและทีมได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญพนักงานยังได้รับการสนับสนุนให้เข้ารับการฝึกอบรมในประเด็นหรือ เรื่องที่พนักงานสนใจอีกด้วย

ให้ผลตอบแทนที่จูงใจควบคู่กับการประเมินผลงานอย่างจริงจัง

พนักงาน ของบริษัทเซมโก้เป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนของตนเอง ตามความสามารถและมูลค่าเพิ่มที่พวกเขาคิดว่าสามารถสร้างให้แก่องค์กร โดยพนักงานแต่ละคนต้องคิดอย่างรอบคอบก่อนที่จะเสนอเงินเดือนของตนเอง เนื่องจาก เงินเดือนของทุกคนนั้นจะถูกติดประกาศในที่สาธารณะให้ทั้งองค์กรทราบ ซึ่งจะมีแรงกดดันจากเพื่อนรอบข้างเป็นกลไกควบคุมไม่ให้พนักงานแต่ละคนกำหนด อัตราเงินเดือนที่สูงเกินไปสำหรับตนเอง พนักงานที่กำหนดเงินเดือนของตนเองสูงเกินไป เพื่อนร่วมงานอาจไม่พอใจและอาจมีผลทำให้เขาต้องตกงานในอีกไม่กี่เดือนข้าง หน้าได้ เนื่องจากพนักงานไม่สามารถขอลดเงินเดือนของตัวเองในภายหลัง เพราะกฎหมายของบราซิลนั้นห้ามไม่ให้ทำเช่นนั้น

ประกอบกับระบบการ ประเมินผลการทำงานที่จริงจัง พนักงานที่เซมโก้จะถูกประเมินผลการทำงานตามสิ่งที่พวกเขาได้มีส่วนต่อผลการ ดำเนินงานขององค์กร คนที่เสนอเงินเดือนสูง เกณฑ์การประเมินย่อมสูง หากเขาไม่สามารถไปถึงเกณฑ์ย่อมอาจถูกให้ออกจากงานได้ โดยผู้ที่ถูกประเมินมากเป็นพิเศษคือผู้บริหารระดับผู้จัดการขึ้นไป เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร พนักงานที่มีอายุงานมากกว่า 3 ปีและ/หรือมีอายุมากกว่า 50 ปี เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ประเมิน โดยการให้คะแนน 1 – 100 ผลการประเมินจะติดประกาศไว้ให้เห็นชัดเจนในที่สาธารณะและผู้จัดการที่มี คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 75 จะต้องถูกให้ออกจากบริษัท ซึ่งกฎนี้บังคับใช้กับริคาร์โด เซมเลอร์ด้วยเช่นกัน 

นอกจากเงิน เดือนแล้ว บริษัทเซมโก้ยังได้แบ่งปันกำไรให้แก่พนักงานอีกด้วย โดยบริษัทจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งมาจากการคัดเลือกลงคะแนนตามหลัก ประชาธิปไตย เพื่อให้ทำหน้าที่พัฒนาและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรรกำไรของบริษัท ซึ่งเป็นการช่วยลดคำบ่นร้องเรียนของพนักงานเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกำไรนี้ โดยพนักงานเป็นผู้โหวตลงคะแนนว่าจะจัดสรรเงินกำไรที่ถูกแบ่งมาเพื่อจัดสรร ให้พนักงานนี้อย่างไร ซึ่งไม่ใช่เพียงฝ่ายบริหารเท่านั้นที่ได้รับการแบ่งปันเงินกำไรของบริษัท แต่พนักงานทุกคนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์จะได้รับการจัดสรรเงินกำไรและโบนัส ก้อนนี้ เป็นต้น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในบริษัทเซมโก้ ซึ่งเราจะเห็นว่าบริษัทเซมโก้นั้นมีนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการในองค์กร หลายอย่างที่น่าสนใจมาก อย่างไรก็ตามบริบท วัฒนธรรม วิธีคิดของคนบราซิลนั้นย่อมแตกต่างจากคนไทย การลอกเลียนแบบทุกประการมาใช้กับองค์กรในประเทศไทยอาจไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่หากประยุกต์เอาหลักการที่อยู่เบื้องหลังมา น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยต่อปรับปรุงและพัฒนาองค์กรโดยเฉพาะภาคธุรกิจ ซึ่งต้องการการฟื้นฟูตัวเองและปรับตัวอยู่เสมอในโลกที่มีพลวัตรและท่ามกลาง ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ฺby ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

 

เปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างสร้างสรรค์: กรณีศึกษา ริคาร์โด เซมเลอร์ และบริษัทเซมโก้ (บราซิล) (1)





... ....ริคาร์โด เซมเลอร์ได้เข้ามาบริหารบริษัทเซมโก้ต่อจากพ่อของเขาเมื่อปี 1982 ขณะนั้นเขาอยู่ในวัยเพียง 24 ปี เซมเลอร์เปลี่ยนแปลงบริษัทหลายอย่าง จนทำให้รายได้ของบริษัทเซมโก้ขยายตัวจาก 4 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 1982 เป็น 212 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2003 พนักงานเพิ่มขึ้นจาก 90 คนในปี 1982 เป็น 3,000 คนในปี 2003 และบริษัทเซมโก้กลายเป็นบริษัทที่มีคนอยากร่วมงานมากที่สุดในบราซิล

สิ่งที่น่าทึ่งคือการเปลี่ยนแปลงที่เซมเลอร์ทำให้เกิดขึ้นกับบริษัทเซมโก้นี้ ไม่ได้อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจบราซิลดี แต่เป็นช่วงที่การว่างงานของบราซิลสูงเป็นประวัติการณ์ เงินเฟ้อสูงมาก (Hyperinflation) อุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในช่วงชะลอตัว


บทความโดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (Professor Kriengsak Chareonwongsak)
แหล่งข้อมูล:
http://www.drdancando.com/
http://www.kriengsak.com/

อ่านต่อ

Entertainment Complex article by Kriengsak chareonwongsak

Entertainment Complex
กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอีกครั้ง หลังจากที่ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเสนอแนวคิดที่จะให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติสลากกินแบ่ง เพื่อให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯสามารถดำเนินกิจการได้กว้างขึ้น รวมถึงการจัดตั้งและดำเนินกิจการแหล่งบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ด้วย

แนวคิดเบื้องต้นของการจัดตั้ง Entertainment Complex คือ สถานที่ที่รวบรวมบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งคาสิโน ร้านค้า สนามกอล์ฟ ธุรกิจบันเทิงต่างๆ หรือแม้กระทั่งโรงเรียนกวดวิชา เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวสามารถเข้าไปใช้บริการได้ โดยพื้นที่หนึ่งที่เป็นเป้าหมายของการจัดตั้งแหล่งบันเทิงครบวงจร คือ ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยเหตุที่ไม่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม

แนวคิดการจัดตั้งคาสิโนหรือบ่อนการพนันถูกกฎหมาย ได้เคยถูกนำเสนอขึ้นมาในยุครัฐบาลทักษิณ1 โดยรัฐบาลได้ทำหนังสือไปยังสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการพนัน 3 ประเภทให้ถูกกฎหมาย คือ การจัดตั้งบ่อนการพนัน หวยใต้ดิน และการพนันฟุตบอล ซึ่งถือเป็นคำขอครั้งแรกและอาจเป็นครั้งเดียวที่รัฐบาลได้ยื่นให้สภาที่ปรึกษาฯ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานศึกษาแนวทางจัดการพนันในสังคมไทย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งผมเป็นคณะทำงานอยู่ในเวลานั้น ได้ทำการศึกษาจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยจุดยืนของสภาที่ปรึกษาฯ ในเวลานั้นไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบ่อนการพนันถูกกฎหมาย

ในความเห็นของผม ไม่ได้ต่อต้านแนวคิดการจัดตั้งบ่อนพนันถูกกฎหมายแบบหัวชนฝา แต่การดำเนินนโยบายที่อ่อนไหวและเป็นข้อถกเถียงของสังคมเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาและดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งผมเห็นว่ามีคำถามสำคัญที่ควรพิจารณา ดังนี้

ส่งผลกระทบทางสังคมอย่างไร?

ข้อเสนอของผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลระบุถึงประโยชน์ของการจัดตั้งแหล่งบันเทิงครบวงจรหลายประการ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ของรัฐบาล สร้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ลดการไหลออกของเงินตรา และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะผลกระทบทางสังคม อาทิ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม การป้องกันการใช้คาสิโนเป็นแหล่งฟอกเงิน บรรทัดฐานของสังคมที่เสื่อมถอยลง เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องทำการศึกษาผลดี-ผลเสียของการจัดตั้งบ่อนถูกกฎหมายอย่างรอบด้าน และศึกษาบทเรียนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้เปิดบ่อนพนันถูกกฎหมายด้วย

นอกจากนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับผลดีบางประการของการมีบ่อนถูกกฎหมายนั้นจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์เช่นกันว่าเป็นจริงตามที่เชื่อหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นการมีบ่อนการพนันถูกกฎหมายอาจไม่ทำให้บ่อนเถื่อนหมดไปก็เป็นได้ แต่อาจทำให้การแข่งขันในตลาดบ่อนพนันรุนแรงมากขึ้น ทำให้บ่อนพนันเถื่อนและบ่อนในประเทศเพื่อนบ้านต้องปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักพนันเข้าบ่อนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตลาดการพนันในประเทศมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและมีจำนวนนักพนันมากขึ้น

กลุ่มเป้าหมายคือใคร?

แนวคิดการจัดตั้งคาสิโนของ ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ดูเหมือนว่า มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสองกลุ่ม คือ นักท่องเที่ยวต่างประเทศและนักพนันชาวไทย (แต่การจัดตั้งคาสิโนในทุ่งกุลาร้องไห้อาจดึงดูดคนในประเทศมากกว่าจะเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ) ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศที่จัดตั้งบ่อนการพนันถูกกฎหมายโดยมุ่งเป้าในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลักมิใช่คนในประเทศ

ทั้งนี้ความพยายามดึงดูดกลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่มอาจทำให้เกิดปรากฎการณ์ได้อย่าง-เสียอย่างกล่าวคือ ทำให้นักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เข้าบ่อนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกลับทำให้นักพนันหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

อีกประเด็นที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ แนวคิดที่พยายามทำให้ entertainment complex เป็นสถานที่ที่ทุกคนในครอบครัวเข้าใช้บริการได้ โดยการรวบรวมแหล่งบันเทิงทุกรูปแบบ แม้กระทั่งโรงเรียนกวดวิชาเข้าไปอยู่ด้วย เพราะมีความเสี่ยงที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีค่านิยมที่ผิดเกี่ยวกับการพนัน และดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่หนทางอบายมุข

มีกลไกการตรวจสอบ ควบคุมและป้องกันอย่างไร?


การจัดตั้งบ่อนการพนันถูกกฎหมายอยู่บนตรรกะที่ว่า ในเมื่อนักพนันชาวไทยจำนวนมากเดินทางไปเล่นการพนันในประเทศเพื่อนบ้าน หรือลักลอบเล่นการพนันในบ่อนเถื่อนอยู่แล้ว เหตุไฉนประเทศไทยจึงไม่จัดตั้งบ่อนถูกกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้สิ่งผิดกฎหมายที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน เพื่อทำให้สามารถตรวจสอบและควบคุมได้

ตรรกะดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่าพิจารณา เพราะหลายประเทศในโลกได้ใช้แนวคิดนี้ในการจัดการกับกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยเปลี่ยนจากการกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดการลักลอบทำกิจกรรมเหล่านี้ในแบบใต้ดิน ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายแต่ต้องดำเนินการภายใต้ขอบเขตที่กำหนด มีกลไกการควบคุม รวมทั้งการบำบัดผู้เสพติดกิจกรรมเหล่านี้ และป้องกันผู้เสพรายใหม่

หากรัฐบาลจะดำเนินการจัดตั้งคาสิโนถูกกฎหมาย ประเด็นสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลจะออกแบบสถาบันหรือกลไกการการตรวจสอบ ควบคุมและป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบดังที่ได้กล่าวข้างต้น รวมทั้งมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดนักพนันรายใหม่ได้อย่างไร และมีกลไกการบำบัดผู้ที่ติดการพนันอย่างไร ซึ่งผมเห็นว่าการจัดตั้งคาสิโนในบริบทสังคมไทยมีความเสี่ยงมาก เพราะการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ

การบริหารจัดการรายได้รัฐบาลที่ได้รับจากกิจการแหล่งบันเทิงครบวงจรเป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะดูเหมือนว่าสำนักงานสลากกินแบ่งพยายามเสนอให้ลดสัดส่วนการนำส่งรายได้เข้ารัฐ แต่ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยมีคณะกรรมการควบคุมดูแลการบริหารจัดการกองทุน ซึ่งผมเกรงว่า จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้รัฐบาลในการใช้เงินนอกงบประมาณโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

นอกเหนือจากการพิจารณาเพื่อตอบคำถามข้างต้นแล้ว อีกคำถามที่รัฐบาลควรพิจารณาควบคู่ไปด้วย คือ มีทางเลือกอื่นที่สามารถตอบโจทย์และวัตถุประสงค์ของรัฐบาลได้ดีกว่า มีความเสี่ยงน้อยกว่าและมีผลกระทบน้อยกว่าการจัดตั้ง entertainment complex หรือไม่



อ่านบทความเรื่องอื่นๆ ได้ที่     www.drdancando.com


More about  : www.kriengsak.com
Create by : Kriengsak.com