Wednesday, July 11, 2012

See Thailand See Bangkok, Kriengsak Chareonwongsak



ไฮคลาส : ขณะที่สัมภาษณ์อยู่นี้มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าวิกฤตจากประเทศมหาอำนาจในโลก รวมถึงวิกฤตพลังงานกำลังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตโดยรวมของโลกและแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย คุณมีมุมมองอย่างไร
วิกฤติพลังงานเป็นผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศ และเป็นฝันร้ายต่อผู้ที่กุมอำนาจรัฐในหลายประเทศ ประการแรก วิกฤติพลังงานสร้างปัญหาลูกโซ่ตามมา อันได้แก่ เศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาเงินเฟ้อที่เรียกง่ายๆ ว่า ภาวะข้าวยากหมากแพง เมื่อเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้จะส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบากขึ้น โดยเฉพาะคนยากจน ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลสุดท้ายต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และไม่เคยมีรัฐบาลใดดำรงอยู่ได้เมื่อประชาชนอดอยาก
ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบของน้ำมันแพงต่อเศรษฐกิจเช่นปัจจุบันนี้ รัฐบาลไม่สามารถใช้นโยบายใดๆ เพื่อจะแก้ไขปัญหาได้แบบเด็ดขาด เนื่องจากหากรัฐบาลจะใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคนจน ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เป็นการทำร้ายภาคธุรกิจที่แบกภาระหนี้หนักอยู่แล้วให้ล้มละลาย ในทางตรงกันข้าม หากจะช่วยทำให้ดอกเบี้ยลดลงเพื่อลดภาระหนี้ของภาคธุรกิจนั้นก็จะทำให้เงินเฟ้อหนักขึ้นไปอีกจนคนจนอยู่ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้มิได้เกิดแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก และประชาชนในหลายประเทศได้ออกมาประท้วงรัฐบาลเพราะปัญหาปากท้อง ประเทศไทยก็มีโอกาสจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
ไฮคลาส : และคุณมองว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทั้งหมดเหล่านี้
ปัญหาราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบ ปัจจัยหนึ่งเกิดจากการที่มีคนแย่งกันซื้อน้ำมันดิบเป็นจำนวนมาก แต่การขุดเจาะนั้นทำไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งผมคิดว่าอาจจะเป็นเหตุผลข้อใหญ่กว่า นั่นคือ การเก็งกำไรราคาน้ำมัน พวกนักเก็งกำไรเชื่อกันว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว ก็เลยไปซื้อตุนเอาไว้
เป็นความจริงที่ว่า โลกเรามีเงินทุนอยู่มหาศาลและก็กำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี เงินทุนเหล่านี้จะวิ่งไปที่ต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งในขณะนี้การเก็งกำไรน้ำมันก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง เนื่องจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือ ซับไพร์มในสหรัฐฯ ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำและเงินดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนจึงหันไปเก็งกำไรราคาน้ำมัน แทนที่จะลงทุนในหุ้นหรือถือเงินดอลลาร์
ไฮคลาส : ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง และทำให้ขยายไปทั่วโลก
ปัจจัยหลักก็คือ ทั่วโลกล้วนต้องพึ่งน้ำมันทั้งสิ้น ดังนั้นทุกประเทศต่างต้องได้รับกระทบจากราคาน้ำมันแพงแต่อาจมากบ้างน้อยมากตามระดับการพึ่งพา เพราะน้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตที่ทุกอุตสาหกรรมต้องใช้ น้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญของการขนส่งสินค้า น้ำมันเป็นรายจ่ายที่มีสัดส่วนสูงมากในการนำเข้าของเกือบทุกประเทศ ดังนั้นหากราคาแพงขึ้นแทบทุกประเทศย่อมต้องได้รับผลกระทบ
ไฮคลาส : ผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต จากสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับโลก ระดับภูมิภาคเอเชีย รวมถึงระดับประเทศ
ผมมองว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นรุนแรงที่สุดในช่วงระยะสั้นนี้ จะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของทั่วโลกแพงขึ้นต่อไป ประเทศไทยและเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอลง แม้ว่าเศรษฐกิจของจีน และอินเดียจะยังขยายตัวได้ดี
ในระยะสั้นราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวผมเชื่อว่า ผลกระทบจากราคาน้ำมันจะคลี่คลายมากขึ้น เรามีประสบการณ์จาก oil shock ทั้งในยุค 70’s, 80’s และ 90’s ทุกๆ ครั้งราคาน้ำมันจะสูงขึ้นจะคงอยู่ในช่วงหนึ่งแล้วก็ลดลงในเวลาต่อมา เนื่องจากว่าในระยะยาวความกดดันจากราคาน้ำมันแพง จะทำให้ภาคธุรกิจต้องพยายามหา สิ่งที่มาทดแทนน้ำมันเพื่อให้อยู่รอดได้ เมื่อมีสิ่งที่มาทดแทน ราคามันจะลดลงตามมา เมื่อถึงเวลานั้นปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาเงินเฟ้อก็จะลดลงและเศรษฐกิจก็จะเติบโตดีขึ้น
ไฮคลาส : ผลกระทบต่อชีวิตคนไทย
ปัญหาน้ำมันจะกระทบต่อปากท้องของคนไทยทุกคน ในด้านรายจ่ายนั้น ประชาชนต้องเดินทาง ทำให้ประชาชนต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง น้ำมันเป็นต้นน้ำของการผลิตทุกอย่าง จึงส่งผลให้ราคาสินค้าเกือบทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น ในด้านรายได้ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันส่งผลให้กำไรของธุรกิจลดลง
ไฮคลาส : ในฐานะของคนที่ผ่านโลกมาทุกมุม และติดตามความเป็นไปของโลกมีมุมมองอย่างไรต่อปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากสหรัฐวิกฤต Subprime, วิกฤตพลังงาน, การกระทบกระทั่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก, สถานการณ์โลกร้อน, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯลฯ
ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจที่จะมีอิทธิพลต่อไทย ถ้าดูตัวเลขส่งออกของไทยจะพบว่าไทยส่งสินค้าไปขายอเมริกาในสัดส่วนที่น้อยลงจากอดีต ผลกระทบหรืออิทธิพลจากอเมริกาจึงไม่ได้มากเหมือนแต่ก่อน เช่น การเกิดวิกฤติ Subprime ในอเมริกา เศรษฐกิจอเมริกาชะลอลงทำให้การนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ลดลงตามไปด้วย แต่ไทยไม่ได้รับผลกระทบนี้มากนัก เนื่องจากอเมริกาไม่ได้เป็นแหล่งส่งออกใหญ่ของไทยแล้ว
ในขณะเดียวกันนั้น อิทธิพลของจีนและกลุ่มอาเซียนกำลังมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จีนกำลังเป็นแหล่งส่งออกของไทยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหมดรวมกันนั้นก็เป็นแหล่งการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย หากไม่นับเวียดนามที่เศรษฐกิจกำลังแย่ในระยะสั้น ทั้งจีนและอาเซียนนั้นทุกคนรู้ดีว่ากำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและก็ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจอเมริกาด้วยเหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาอาเซียนเป็น AFTA (ASEAN Free Trade Area : เขตการค้าเสรีอาเซียน) ในอนาคตนั้นเป็นไปได้ ทั้งจีนและอาเซียนจึงมีผลกระทบต่อไทยมากและจะมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกเหนือจากประเด็นเศรษฐกิจ เราคงต้องจับตาดู และวิเคราะห์ว่าสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศไทยบ้าง และเร่งเตรียมรับมือป้องกันก่อนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมองว่าในหลายเรื่องเราอาจสายเกินไป เช่น ในเรื่องของวิกฤตพลังงาน เราอาจสายเกินไปสักหน่อย เพราะเราเพิ่งเริ่มพูดกันอย่างจริงจังเรื่องพลังงานทดแทน ขณะที่ประเทศบราซิลพูดไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จนตอนนี้ถือว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านพลังงานประเทศหนึ่ง หรือในเรื่องของผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนมีเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่า หากไม่มีการจัดการกับสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ในอนาคตภัยพิบัติที่มนุษย์ต้องเผชิญจะมีความรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่นี้มากมายหลายเท่า เราคงต้องเตรียมการป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่วันนี้
ไฮคลาส : อยากให้แสดงทรรศนะต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ในภูมิภาคอาเซียน ในปัจจุบันและในอนาคต
ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว อนาคตเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคในอาเซียนจะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ผมมองว่าในอนาคตจะเป็นยุคของปัญญา ตามหนังสือคลื่นลูกที่ห้าที่ผมเขียนไว้ ซึ่งอาจสรุปสั้นๆ ว่าการที่ประเทศหนึ่งจะมีเศรษฐกิจเติบโตจนผงาดขึ้นมาได้นั้นเกิดขึ้นจากการได้ครอบครองปัจจัยที่สำคัญแห่งยุค ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในคลื่นลูกที่สาม คือ ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่อเมริกายังคงครองเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่
ผมเชื่อว่าในอนาคตโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่คลื่นลูกที่สี่ หรือ ยุคแห่งความรู้ ก่อนจะถึงคลื่นลูกที่ห้า หรือ ยุคแห่งปัญญาในที่สุด ดังนั้นความรู้ต่างๆ หรือคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสินทรัพย์อยู่ในแต่ละคนนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญในปัจจุบัน และกำลังจะเพิ่มความสำคัญเรื่อยๆ ในอนาคต

ไฮคลาส : มุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
ชะตาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันขึ้นอยู่กับปัญหาสองเรื่องหลัก นั่นคือ ราคาน้ำมันและการเมืองไม่มีเสถียรภาพ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า น้ำมันเป็นต้นน้ำของการผลิตทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาน้ำมันสูงมาก เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้นจึงทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงมากกว่าประเทศอื่นซึ่งพึ่งน้ำมันน้อยกว่า เมื่อมองจุดนี้จะเห็นว่า นอกจากราคาน้ำมันจะกระทบปากท้องคนไทยแล้ว ยังอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกอีกด้วย
ในอีกด้านหนึ่งนั้น ความไม่มีเสถียรภาพด้านการเมืองส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คนทั่วไปคิด ปกติภาคเอกชนนั้นจะกล้าลงทุนก็ต่อเมื่อนโยบายมีเสถียรภาพ หากนโยบายของรัฐไม่มีความแน่นอนย่อมส่งผลให้เอกชนไม่กล้าลงทุน
ไฮคลาส : แล้วลงมาในระดับกรุงเทพฯ คุณมองอย่างไร ในมิติของสมาชิกคนหนึ่งของกรุงเทพฯ ไม่ใช่มุมมองของผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงจึงเป็นเหมือนเมืองหน้าด่านในการรับผลกระทบทั้งจากการปะทะกันทางการเมือง ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มักจะเห็นภาพชัดในกรุงเทพฯ ก่อน อันจะยิ่งส่งผลทับซ้อนให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีปัญหามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ เพิ่มจากปัจจุบัน ผลกระทบของการเติบโตแบบกระจุกตัว รวดเร็วแต่ไร้ทิศทาง ส่งผลให้เราต้องทนรับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจราจร น้ำเน่าเสีย ฝุ่นควันมลพิษ ความแออัดของประชากรเกือบ 10 ล้านคน ฯลฯ ยิ่งหากเมื่อมองอนาคต กรุงเทพฯ อาจต้องเผชิญปัญหาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อาทิ น้ำท่วมจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน กองภูเขาขยะล้นเมือง และต้องรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังใกล้เข้ามา
ไฮคลาส : คุณอยู่ในภาควิชาการ ทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง มองเห็นผลกระทบที่เกิดซึ่งกันและกัน มองอย่างไรในปัจจุบัน
เห็นได้ชัดเลยว่า การเมืองที่ขาดเสถียรภาพ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ รวมทั้งทำให้การพัฒนาประเทศขาดความต่อเนื่อง และไม่เห็นทิศทางการพัฒนาชัดเจน
ไฮคลาส : หากจะอนุมานว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาแรกที่จะต้องแก้ อยากให้คุณแสดงวิสัยทัศน์ระดับประเทศ
ในระยะสั้น รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องเป็นอันดับหนึ่ง เพราะนอกจากปัญหานี้จะกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านแล้ว ยังสามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้ด้วย
แนวทางแรกคือ การเพิ่มรายได้ [การเพิ่มรายได้ ให้เน้นเข้มนะครับ...] แน่นอนว่าถ้าเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยเพื่อจะมีเงินไปซื้อสิ่งจำเป็นต่างๆ มากขึ้น แต่การเพิ่มรายได้ต้องมีเงื่อนไข หากรัฐบาลให้เงิน โดยไม่มีเงื่อนไข หรือโดยไม่ได้ทำงานเพิ่มขึ้นจะกลายเป็นผลเสียในระยะยาว ผมจึงคิดว่ารัฐบาลควรมีนโยบาย Tax credit เหมือนสหรัฐ เป็นการให้เงินช่วยเหลือคนที่ได้เงินเดือนต่ำใต้เส้นความยากจน โดยรัฐบาลมีเงื่อนไขให้ผู้รับประโยชน์ต้องทำงานสาธารณประโยชน์ให้แก่รัฐด้วย อีกนโยบายหนึ่งของการคืน VAT ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย แม้รัฐบาลไม่ได้อยากเก็บภาษีจากผู้มีรายได้น้อย แต่ความจริงผู้มีรายได้น้อยก็ต้องเสียภาษีให้รัฐทางอ้อมผ่านทาง VAT ซึ่งเป็นสัดส่วนต่อรายได้ที่สูง โดยโครงการนี้จะให้กับแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อที่จะมีข้อมูลตรวจสอบได้ว่าจนจริงหรือไม่
อีกแนวทางหนึ่งคือ การลดรายจ่าย [การลดรายจ่าย ให้เน้นเข้มนะครับ...] ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายตั้งเพดานราคาสินค้า ซึ่งนอกจากไม่ค่อยใช้ได้ผลจริงแล้ว ยังอาจทำให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายเดือดร้อนด้วยหากผู้ผลิตต้องลดปริมาณการผลิตลงเนื่องจากไม่คุ้มค่าการผลิต ราคาสินค้าควรเป็นไปตามกลไกตลาด แต่รัฐบาลควรเข้าไปช่วยเหลือในสิ่งที่เป็นภาระของผู้มีรายได้น้อย อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เช่น รัฐบาลอาจมีโครงการบุฟเฟต์ผู้มีรายได้น้อยโดยไปสร้างโรงอาหารตามชุมชนใหญ่กระจายทั่วกรุงเทพฯ โดยให้จ่ายค่าอาหารรายเดือนและสามารถทานอาหารเท่าไรก็ได้ และโครงการรถเมล์ศูนย์บาทที่จะจัดเส้นทางให้วิ่งผ่านชุมชนใหญ่กับจุดสำคัญ เช่น ตลาด ศูนย์การค้า โดยไม่บังคับให้จ่ายค่าโดยสาร
ไฮคลาส : คุณคิดว่าวิวัฒนาการทางการเมืองของไทยในปัจจุบันดำเนินมาถึงขั้นไหนแล้ว
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าประเทศไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร ตั้งแต่ การปกครองภายใต้ระบบราชการ, มีการยึดอำนาจด้วยการปฏิวัติ-รัฐประหารจำนวน 22 ครั้งทั้งสำเร็จและล้มเหลว, การลุกขึ้นสู้กับระบอบเผด็จการของนักศึกษา, การเสียเลือดเนื้อของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และ พฤษภาทมิฬ, การเมืองแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง
ที่สำคัญมีการการปฏิรูปการเมืองในช่วงปี 40 ด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญ เน้นให้ฝายบริหารมีความเข้มแข็ง มีสถาบันทางการเมืองที่เรียกว่า “องค์กรอิสระ” ทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ อีกทั้งคุ้มครองประชาชนให้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น มีการกระจายอำนาจ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนปกครองตนเอง และเกิดการตื่นตัวของการเมืองภาคประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเพื่อป้องกันมิให้ใช้อำนาจในทางมิชอบ
หลังจากนั้นก็กลับไปเริ่มต้นหรือนับหนึ่งใหม่ หลังเกิดการรัฐประหารในปี 2549 มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การเมืองแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง การเมืองที่ภาคประชาชนขับไล่รัฐบาลนอมินี เริ่มเรียนรู้ในเรื่องของสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นวิวัฒนาการทางการเมืองของไทยในระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยในรอบ 76 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งแบบประชาธิปไตย, กึ่งประชาธิปไตย, เผด็จการทหาร, เผด็จการเสียงข้างมาก และเสรีนิยมประชาธิปไตย
ไฮคลาส : ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองไทยในขณะนี้อย่างไรบ้าง มันกำลังจะนำไปสู่สิ่งใด ในสายตาของคุณคิดว่าทางรอดทางเลือกมันจะอยู่ที่สิ่งไหน
สถานการณ์ตอนนี้ถือเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงของสังคมไทย กล่าวคือ รัฐบาลอ้างเสียงส่วนใหญ่ที่รับฉันทานุมัติจากเสียง 12 ล้านเสียงเข้ามาบริหารและปกครองประเทศ ขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งไม่อาจยอมรับรัฐบาลชุดนี้ โดยกล่าวหาว่า เป็นรัฐบาลนอมินี มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อพวกพ้องและตัดตอนการยุบพรรค บริหารงานไร้ประสิทธิภาพ ผู้บริหารประเทศขาดภาวะผู้นำ ฯลฯ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเท่านั้น
สภาพดังกล่าวอยู่ในสภาพเขาควาย (dilemma) ที่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ทางออกพอที่จะคิดได้ ถึงอย่างไรเสีย รัฐบาลไม่ควรจะสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง หรือประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะเท่ากับเป็นการขยายความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจนำมาซึ่งการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ควรใช้ช่องทางรัฐสภาใช้เป็นเวทีในการตอบข้อกล่าวหาของพันธมิตร หรือให้สมาชิกรัฐสภาเสนอทางออกในการแก้วิกฤตในขณะนี้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ว่า ภายใน 4 ปีนี้ รัฐบาลจะไม่ริเริ่มที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนชุมนุมอย่างเดิม เพียงแต่ว่าจะต้องไม่ฝ่าฝืนกฎหมายในลักษณะทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินของเอกชนและราชการ
ไฮคลาส : เมื่อพูดถึงประเด็นการเมืองบ่อยครั้งที่มักจะมีการนำสถาบันพระมหากษัตริย์ในการหมิ่นสถาบันเบื้องสูงมาเป็นประเด็นในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม คุณมีทรรศนะอย่างไรต่อประเด็นนี้
พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง และเป็นเรื่องที่มิบังควรอย่างยิ่งหากผู้ใดกล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
ไฮคลาส : ในฐานะนักวิชาการที่เดินทางมาแล้วทั่วโลก มองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีผลอย่างไรต่อความเจริญ นำมาซึ่งความผาสุกของประเทศต่างๆ และประเทศไทยอย่างไร
นับตั้งแต่วันแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี 2489 จวบจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 62 ปี ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในแผ่นดินมาโดยตลอด ยังผลให้ราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดำเนินชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ความสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ โครงการตามพระราชประสงค์, โครงการหลวง, โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ และโครงการตามพระราชดำริ ที่มีจำนวนมากกว่า 3,000 โครงการ เกิดขึ้นด้วยพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยให้ดีขึ้น อันเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทยและนานาอารยประเทศมาโดยตลอด พระองค์ทรงพระราชทานปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ชี้แนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นความสมดุล องค์รวม และยั่งยืน ซึ่งช่วยคนไทยไม่ให้ต้องรับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกระแสโลกาภิวัตน์
ผมเป็นคนที่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และถือว่าประเทศของเราโชคดีที่เกิดมาใต้ร่มโพธิสมภาร
ไฮคลาส : มีมุมมองส่วนตัวอย่างไรต่อกรณีของสถานการณ์ในเนปาลที่ส่งผลต่อทั้งทางการเมืองและแนวทางของรูปแบบการปกครอง
ผมมองเรื่องการตัดสินใจของผู้นำที่มองไปที่ภาพรวมเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ซึ่งในกรณีการตัดสินใจของอดีตกษัตริย์ของเนปาล เป็นการตัดสินใจที่จะยุติความรุนแรงทั้งหมด โดยการทำตามมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ให้เสด็จออกจากพระราชวังภายใน 15 วัน หลังจากที่มีการลงมติเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัฐสภา แม้ว่าก่อนหน้าจะเกิดความผิดพลาดจนทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง คือ การที่อดีตกษัตริย์ของประเทศเนปาลได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งนำไปสู่การประท้วงอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์การปราบการชุมนุม จนมาถึงการเจรจาข้อตกลงสันติภาพ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์หยุดยิงระหว่างรัฐบาลและกบฏลัทธิเหมา และการเปลี่ยนแปลงประเทศมาสู่ระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้อง แม้ต้องแลกกับการจบสิ้นของราชวงศ์ที่ปกครองประเทศเนปาลมา 240 ปีก็ตาม
ไฮคลาส : จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอยากให้คุณลองเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย จีน สเปน อิหร่าน และเนปาล ผ่านเลนส์ของคุณ
ในมุมมองของผม ผมมองว่าประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น เป็นรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่สิ่งที่กลุ่มชนชั้นปัญญาชน กลุ่มมวลชนหรือคนส่วนมากคิดเห็นว่าดีกว่าระบอบเดิม โดยมีพื้นฐานอยู่ที่สังคมนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายชนชั้นนำ/ชนชั้นปกครอง และฝ่ายชนชั้นที่อยู่ภายใต้การปกครอง ซึ่งหากเมื่อใดที่ชนชั้นที่อยู่ภายใต้รู้สึกว่าตนเองไม่มีความมั่นคง ซึ่งมีอยู่ 7 ประการได้แก่ 1) ความผันผวนทางการเงินและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ 2) ความไม่มั่นคงทางอาชีพและรายได้ 3) ความไม่มั่นคงทางสุขภาพ 4) ความไม่มั่นคงทางวัฒนธรรม 5) ความไม่มั่นคงส่วนบุคคล 6) ความไม่มั่นคงทางสิ่งแวดล้อม และ 7) ความไม่มั่นคงทางการเมืองและชุมชนถูกกดขี่ เมื่อเกิดความรู้สึกเหล่านี้ย่อมนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง
โดยจากประวัติศาสตร์ของประเทศ ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย จีน สเปน อิหร่าน และเนปาล ประชาชนในประเทศเหล่านี้ต่างก็ประสบกับความรู้สึกดังกล่าว จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม ด้วยเหตุนี้ ศาสตร์ของการปกครอง จึงมิได้อยู่เพียงแค่การเข้าถึงอำนาจ แต่อยู่ที่การใช้อำนาจของผู้นำ/ชนชั้นปกครอง เพื่อให้ประชาชน/ชนชั้นที่อยู่ภายใต้การปกครองรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยปราศจากความหวาดกลัว และมีสิทธิเสรีภาพตามที่กฎหมายกำหนด
อันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก รูปแบบความมั่นคงมนุษย์ในแง่ของเสรีภาพจากความหวาดกลัว (Freedom from Fear) และเสรีภาพจากความต้องการ (Freedom from Want) ซึ่งก็ยังใช้กันมากเมื่อพูดถึงความมั่นคงของมนุษย์
ไฮคลาส : นิยาม/ความหมายของการเมืองการปกครองในมุมมองของคุณกับระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทย (เช่น ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยเสนอ “สองนคราประชาธิปไตย”)
ผมไม่อยากใช้คำที่อาจฟังแรงเกินไป แต่ผมคิดว่า ประชาธิปไตยของไทยนั้น ยังอยู่ในสภาพของ “ประชาธิปไตยแบบไร้สำนึก” [ประชาธิปไตยแบบไร้สำนึก เน้นตัวเข้มนะครับ...] เพราะเมื่อมองอนาคตประชาธิปไตยไทย หากดำเนินต่อไปในสภาพที่เป็นอยู่ วันที่เราไม่อยากเห็น (รัฐประหาร) อาจมีโอกาสหวนหลับคืนมาได้ เพราะแม้ว่าเราจะสามารถแก้ไขระบบให้ดี แก้รัฐธรรมนูญที่มั่นใจได้ว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด แต่หากบุคคลที่สำคัญที่สุด 2 กลุ่ม อันได้แก่ ประชาชน และนักการเมือง ขาดความสำนึกในคุณค่าของอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่สนใจที่จะดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตยแล้ว อนาคตประชาธิปไตยคงเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไร้รากแก้ว ย่อมไม่สามารถต้านทานลมพายุที่พัดผ่านมาได้ เราจำเป็นต้องเพาะเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยให้มีโอกาสหยั่งรากลึก และเติบโตอย่างมั่นคง ผลิดอกออกผลงอกงามในหัวใจคนรุ่นลูกรุ่นหลานของเราให้ได้
ไฮคลาส : ภารกิจที่คุณเสนอตัวเข้ามาในครั้งนี้มีทั้งหน้าที่ที่เกี่ยวเนื่องกับการปกครอง และการบริหาร คุณมีปรัชญาในการบริหารการปกครองอย่างไร
ผมเชื่อในเรื่องของการบริหารแบบมีส่วนร่วม การแก้ปัญหาและพัฒนากรุงเทพฯ ของผมจึงไม่ใช่ลักษณะจากบนลงล่าง แต่เป็นจากล่างขึ้นบน คือรับฟังปัญหาจากแต่ละพื้นที่/กลุ่มคน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมกับพื้นที่/กลุ่มคนนั้นจริงๆ ที่ผ่านมา ผมและทีมงานได้ลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ พันกว่าชุมชน 50 เขต เพื่อรับฟังปัญหา และตั้งใจว่าจะตั้งให้มีที่ปรึกษาประจำซอย รู้ปัญหาและช่วยกันแก้ปัญหาได้ครบถ้วนทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ และจะตั้งวันไว้ 1 วัน สำหรับประชาชนจะมาพบปะสนทนากับผมได้ที่ศาลาว่าการกทม. โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า
ไม่เพียงเท่านี้ ผมเชื่อในเรื่องการบริหารแบบมีตัวชี้วัด ทุกภารกิจที่ทำของทุกหน่วยงาน จะต้องมีตัวบ่งชี้ที่วัดได้อย่างละเอียด ตอนนี้ ผมมีที่ปรึกษาในการจัดทำนโยบายกว่า 3,000 คน ช่วยกันพัฒนาตัวชี้วัดด้านต่างๆ เพื่อวัดความอยู่ดีมีสุขของคนกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ผมจะบริหารตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่สำคัญ งานทุกอย่างที่ตั้งใจจะทำจะต้องไม่ถูกจำกัดด้วยงบประมาณหรือบุคลากร ผมจะใช้วิธีบริหารที่ยืดหยุ่น คิดนอกกรอบ โดยจะดึงภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งสรรหาอาสาสมัครเข้ามาช่วยกันพัฒนากรุงเทพฯ ในเรื่องที่เห็นร่วมกันว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
ไฮคลาส : คุณเชื่อมั่นในระบอบการปกครองรูปแบบไหน
ผมคิดว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ยังคงเป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบันนี้ เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิใช้เสียงของตนในการเลือกบุคคลเข้ามาบริหารประเทศ แม้ว่าจะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด เพราะยังมีความจำกัดและมีปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ อาจไม่ได้บุคคลที่เหมาะสมเข้าไปบริหารประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง หากไม่ได้รับการยอมรับจากการคนบางกลุ่มในประเทศ
ไฮคลาส : ประชาธิปไตยแบบไทยคืออะไรในมุมมองของคุณ
ในมุมมองของผม ประชาธิปไตยแบบไทย เป็นประชาธิปไตยที่เจือด้วยค่านิยมและวัฒนธรรมแบบไทยๆ เช่น อุปถัมภ์นิยม คณานิยม อำนาจนิยม การเลือกตั้งจึงมักมีแนวโน้มเลือกคนที่รู้จักให้ผลประโยชน์ เลือกตามที่ผู้มีอำนาจแนะนำ มากกว่าเลือกตามความเหมาะสมของบุคคล เพื่อผลประโยชน์ของส่วนร่วม
ไฮคลาส : ขณะนี้การเมืองไทยนั้นมีอยู่หลายขั้วแต่ที่แบ่งเด่นชัดเป็นสองขั้ว หากไม่ปล่อยทางเลือกที่สามให้เลือกคิดว่าคุณอยู่ข้างไหน
ผมคิดว่า แม้ไม่มีทางเลือกที่สาม ผมก็ไม่จำเป็นต้องแตกแยกกับใคร เพราะผมเป็นคนสมานฉันท์ ไม่ต้องการเห็นความแตกแยกในสังคม แต่ขณะเดียวกัน ผมเป็นคนที่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย เราสามารถคิดแตกต่าง เห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องให้ความแตกต่างนั้นบั่นทอนให้เกิดความแตกแยกและการให้ร้ายทำลายกัน ควรรับฟังกันและกันและหาทางให้เกิดการสร้างฉันทามติที่ทุกฝ่ายย่อมรับร่วมกันบนฐานคุณธรรมและความถูกต้อง
ไฮคลาส : ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันจะนำพาประเทศไปสู่ทิศทางไหน
ต้องยอมรับว่า นี้คือสภาพความขัดแย้งทางการเมืองที่ก่อตัวมาในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่า สังคมไทยได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝักสองฝ่าย แต่ละฝ่ายก็มีเสียงสนับสนุนอยู่นับ 10 ล้านคน การแบ่งแยกแบบนี้ถูกผลักให้เป็นฝ่ายเขา-ฝ่ายเรา แบ่งสี-แบ่งข้าง ดูเสมือนคนไทยจะขาดความปรองดองสามัคคี ไม่มีความเอื้ออาทรต่อกัน และที่น่าหวาดกลัว หากถูกเพาะบ่มจนมองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูเสียแล้ว ก็มีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรงในการจัดการกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่พวกเรา เท่ากับสังคมไทยเป็นสังคมแห่งอารมณ์ เคียดแค้น ไม่มีเหตุไม่มีผล อีกต่อไป ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อสังคมไทยเลย ดังนั้น อยากให้เราที่เป็นคนไทยทุกคน รู้จักอดกลั้น ฟังซึ่งกันและกันมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้หลักของเหตุและผล ในการพิสูจน์หาความจริงทางการเมืองในเรื่องที่ตนสงสัยและไม่ไว้วางใจ และนำคดีความต่าง ๆ เข้าสู่เส้นทางของกระบวนการยุติธรรมหรือหลักนิติรัฐ โดยที่ฝ่ายการเมืองไม่เข้าไปแทรกแซงเด็ดขาด สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นทางออกของสังคมไทยอยู่บ้าง
ไฮคลาส : คิดว่าปัญหาคืออะไร ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน และใครเป็นต้นเหตุของปัญหานี้
ผมมองว่า ความขัดแย้งนี้เป็นผลพวงจากวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย แม้ประชาชนจะมีสิทธิในการออกเสียงเลือกผู้แทน แต่ถ้ายังสามารถเลือกตัวแทนตามระบบอุปถัมภ์ เลือกตามพวกพ้อง หรือผลประโยชน์ต่างตอบแทน และหากพรรคการเมืองยังคงเป็นพรรค “นายทุน” มากกว่าพรรคของประชาชน ย่อมต้องเกิดสภาพความขัดแย้งเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นชอบที่จะเลือกผู้แทนลักษณะเช่นนี้ ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นคนชั้นกลางหรือคนในเมืองกลับเลือกคนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ทำให้เมื่อระบบเลือกตั้งไม่สามารถที่จะคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพที่ทุกคนในประเทศพึงพอใจเข้ามาได้ เห็นว่าไม่ได้เข้ามาเพื่อประโยชน์คนทั้งประเทศ จึงไม่พอใจและใช้สิทธิในการรวมตัวประท้วง จนกลายเป็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้น
ผมคิดว่า เราจะต้องส่งเสริมการทำให้ “การเมืองสีขาว” [การเมืองสีขาวไม่ต้องเน้นตัวเข้มนะครับ...] เกิดขึ้น โดยมีพรรคการเมืองที่ “เป็นของประชาชน” อย่างแท้จริง แนวคิดการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ใช่พรรคของนายทุนเป็นแนวคิดที่ผมพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พ.ศ.2548 ผมได้สื่อสารแนวคิดนี้แก่ผู้มาฟังคำปราศรัย ได้กล่าวเชิญชวนให้ร่วมกันบริจาค นอกจากนี้ ได้เสนอว่า ต้องแก้กฎหมายเพื่อจำกัดวงเงินสนับสนุนพรรคการเมืองของกลุ่มทุน เพื่อเปิดโอกาสให้ “คนดี-คนเก่ง” เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ “คนรวย” [คนรวยไม่ต้องเน้นตัวเข้มนะครับ...] เท่านั้น
ผมคิดว่า หากแนวคิดนี้ขยายผลสู่ภาคปฏิบัติที่กว้างขวางขึ้น เราจะมีนักการเมืองที่เป็น “ตัวแทน” [ตัวแทนไม่ต้องเน้นตัวเข้มนะครับ...] ประชาชน ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมมากขึ้น
ไฮคลาส : ตำแหน่งที่คุณจะเข้ามานั้นย่อมต้องเกี่ยวพันทำงานร่วมกับรัฐบาล คุณคิดว่ามีสิ่งใดที่เป็นข้อได้เปรียบและสิ่งใดที่เป็นข้อด้อยที่คิดว่ารัฐบาลควรจะต้องปรับปรุง
ผมคิดว่า ความเป็นอิสระของผมคือข้อได้เปรียบ เพราะทำให้ผมสามารถประสานงานกับทุกฝ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ผมเชื่อว่า หากทุกฝ่ายมีความตั้งใจทำสิ่งดีเพื่อประชาชน เพื่อกรุงเทพฯ และเพื่อประเทศของเรา ย่อมควรที่จะต้องร่วมมือ ไม่ใช่ตั้งท่าจะหาเรื่องขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์หรืออคติทางการเมือง
ไฮคลาส : ไม่มีความประสงค์จะเสี้ยมให้ทะเลาะกันหรือให้อวยกันเอง แต่อยากทราบจริงๆ ว่าคุณมีมุมมองต่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอย่างไร
โดยส่วนตัวแล้ว ผมให้ความเคารพนับถือทุกคนที่ทำงานให้บ้านเมือง ใครที่ทำอย่างจริงจังจริงใจ ผมขอบคุณทุกท่านที่รับใช้ชาติบ้านเมืองในทางที่ถูกต้อง
ไฮคลาส : หากไม่ใช่ทักษิณ หากไม่ใช่สมัคร หากไม่ใช่อภิสิทธิ์ และหากไม่ใช่สุรยุทธ์ คิดว่าคนที่จะเป็นนายกฯ ควรจะเป็นใคร หรือเป็นคนแบบใด
ไม่สามารถบอกได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าควรเป็นใคร แต่โดยหลักการแล้ว ผู้นำที่สามารถนำประเทศอย่างราบรื่นได้ ไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่มีทุกฝ่ายให้ความยอมรับนับถือ แต่ต้องเป็นคนที่มีภาวะผู้นำสูง เป็นผู้มีความสามารถในการประสานความขัดแย้ง และสามารถนำทุกฝ่ายมาร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศได้ ไม่เพียงเท่านี้ ผมคิดว่า ควรเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกลเพื่ออนาคตที่ดีของประเทศ และเร่งลงมือผลักดันให้เกิดการวางรากฐานประเทศในด้านต่าง ๆ อันจะทำให้ประเทศไทยก้าวต่อไปได้
ไฮคลาส : เป็นที่แน่นอนว่าการเมืองย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย จากการที่คุณเป็นทั้งนักวิชาการและเคยเป็นนักการเมืองระดับประเทศมาก่อน มองว่าปัญหาเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันนี้มีทางแก้อย่างไรทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
สำหรับระยะสั้นผมได้ตอบไปแล้วในข้อที่ถามถึงปัญหาแรกในด้านเศรษฐกิจฯ ที่จะต้องแก้ไขครับ
ส่วนในระยะกลางนั้นประเทศไทยต้องได้รับการวางโครงสร้างพื้นฐานอันจะเอื้อต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน คำว่า โครงสร้างพื้นฐานนั้น ผมหมายรวมตั้งแต่ด้านกายภาพ เช่น ระบบคมนาคมความเร็วสูงอย่างรถไฟฟ้าถึงโครงสร้างค่านิยมและโครงสร้างสังคม
โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายและระเบียบ เราต้องพัฒนากฎระเบียบที่จะเอื้อจะภาคธุรกิจเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เช่น พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า บังคับอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ
โครงสร้างพื้นฐานด้านการระบบราชการต้องมีประสิทธิภาพ ระบบเงินเดือนของข้าราชการควรเป็นระบบที่จะให้รางวัลคนที่มีผลงานและมีประสิทธิภาพจริงๆ เพื่อทำให้ราชการทำงานเร็ว ต่อไประบบราชการของไทยทุกอย่างจะต้องมีมาตรฐานหมดว่าการติดต่อกับราชการในรูปแบบนี้จะต้องใช้เวลากี่นาที หรือจะได้รับเอกสารในกี่วัน เพื่อจะทำให้ภาคธุรกิจสามารถทำงานได้สะดวก ไม่ต้องติดปัญหาขั้นการติดต่อราชการ
สำหรับแนวทางนโยบายเศรษฐกิจในระยะยาวนั้น ผมใช้แนวคิดของผมเองคือทฤษฎีคลื่นลูกที่ห้า ผมมองเห็นว่า ทิศทางของโลกกำลังมุ่งสู่คลื่นลูกที่สี่คือ สังคมแห่งความรู้ และจะตามติดด้วยคลื่นลูกที่ห้าคือสังคมแห่งปัญญา ปัจจุบันเงินทุนและเครื่องจักรยังคงเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความร่ำรวย แต่ในอนาคตเงินทุนและทุนทางกายภาพจะถูกสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งล้นโลก และรูปแบบการผลิตจะเปลี่ยนไป เศรษฐกิจโลกจะเป็น creative economy ดังนั้น คนที่มีความรู้และปัญญา คนที่มีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่จะสามารถดึงดูดเงินทุนเหล่านี้ให้ไหลเข้ามาเพื่อใช้เป็นทุนในการผลิตเอง
หากเรามองเห็นอนาคตเช่นนี้ รัฐบาลยังต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ใช้นโยบายการคลังเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยผ่านระบบภาษีและการอุดหนุนต่างๆ แต่ว่าตัวนโยบายเศรษฐกิจเองไม่ใช่หัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว นโยบายการลงทุนจะไม่สำคัญเท่ากับนโยบายการศึกษาซึ่งเป็นการลงทุนในมนุษย์ เพื่อสอนให้คนคิดเป็นและแสวงหาปัญญา
ถ้าเรามองเห็นว่าในอนาคตว่าคุณภาพของคนสำคัญขนาดนั้นเราต้องจริงจังในการสร้างคุณภาพการศึกษาตั้งแต่วันนี้ เราควรมีระบบ national test เพื่อรับรองว่าเด็กที่จบการศึกษาในระดับต่างๆ ในประเทศได้มาตรฐานจริงๆ ควรส่งเสริมการแข่งขันในด้านต่างๆ ทั้งวิชาการ และทักษะฝีมือด้านต่างๆ รวมถึงนโยบายส่งเสริมด้านวิจัยและพัฒนาที่ไทยยังมีน้อย
ไฮคลาส : ในคำถามเดียวกันกับข้างต้น แต่เป็นในด้านของสังคมที่ส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจ การเมือง
สังคมไทยปัจจุบันเต็มไปด้วยปัญหาที่หลากหลายและซับซ้อน เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน การหาทางแก้ปัญหานั้น คงต้องพิจารณาในแต่ละเรื่อง แตกต่างกันไป ไม่สามารถลงรายละเอียดในที่นี้ได้
ไฮคลาส : ว่ากันว่าประเทศไทยไม่เจริญเหตุผลหนึ่งมาจากปัญหาทุจริตคอรัปชั่น (ในคำไทยนั้นให้ภาพอย่างรุนแรงที่เรียกว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง”) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานแวดวงราชการ คิดว่ามีมุมมองต่อการจัดการปัญหานี้อย่างไรบ้าง
การแก้ปัญหานี้ จำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจัง แต่ต้องทำด้วยความละมุนละม่อม ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ ต้องเห็นพ้องและยอมให้ความร่วมมือ เพราะการแก้ปัญหาไม่สามารถทำเพียงตรวจสอบ หรือปราบปรามได้ แต่จะเป็นต้องเข้าใจและแก้ไขที่รากของปัญหา โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้มากที่สุดด้วย ผมคิดว่า ระบบราชการจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เรื่องหลัก ๆ ที่ต้องเปลี่ยน อาทิ การจัดทำตัวชี้วัดการทำงาน ทุกกรม กอง ทุกระดับจนถึงกระทรวงต้องมีตัวชี้วัดการทำงานที่สามารถวัดได้จริง เพื่อประเมินได้ว่าทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ และผลตอบแทนในการทำงานจะต้องมีความยุติธรรม “ทำดีต้องได้ดี ทำมากต้องได้มาก” ไม่ใช่อาวุโสมาก ไม่ทำอะไร ได้มาก ต้องเปลี่ยนระบบให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามารับราชการได้ง่ายขึ้น ในตำแหน่งที่เหมาะสม การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเลื่อนเงินเดือนจะดูจากผลงานเป็นสำคัญ ต้องเปลี่ยนระบบค่าตอบแทนให้เหมาะสม จนคนทำงานเกิดแรงจูงใจที่จะทำดี ทำถูกต้อง ระบบประมูลงานจะต้องให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และยุติธรรมต่อทุกฝ่าย ที่สำคัญ ระบบการเมืองในฐานะผู้บริหารจะต้องเป็น การเมืองสีขาว รัฐมนตรีจะต้องไม่เข้ามาโกงกิน แต่เข้ามาเพื่อทำสิ่งดีให้กับประเทศ ไม่ใช้อำนาจในทางโกงกิน ถ้าเป็นเช่นนี้จึงจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในระบบได้
ไฮคลาส : มนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศคิดว่าจะมีแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยอย่างไร อยากให้นำเสนอทั้งในเชิงนโยบายและขยายความในเชิงรูปธรรม
แนวทางการพัฒนาคน จะต้องมีเป้าหมายในการพัฒนา นั่นคือ ทุกคนต้องได้รับการพัฒนาตรงและเต็มตามศักยภาพ ทุกคนต้องได้รับการพัฒนาครบทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้ความสามารถ ทักษะ และลักษณะชีวิต รวมทั้งทุกคนไม่ว่าจะคนปกติหรือพิการต้องได้รับโอกาสการพัฒนาเท่าเทียมกัน ไม่เพียงเท่านี้ เราจำเป็นต้องพัฒนาคนเพื่ออนาคตของประเทศ หมายความว่า เราต้องคิดล่วงหน้าตั้งแต่ตอนนี้ว่า อีก 20 ประเทศแนวโน้มโลกจะเป็นอย่างไร แล้วถ้าเราจะต้องแข่งขันและอยู่ในเวทีโลกอย่างไม่ถูกเอาเปรียบ คนของเราต้องเป็นเช่นไร แล้วต้องเตรียมคนของเราไปในทิศทางนั้น เพื่อให้สามารถยืนได้อย่างสมศักดิ์ศรีในอนาคต อาทิ การเรียนรู้ด้านภาษาต่างประเทศ และภาษาคอมพิวเตอร์ การเรียนรู้ด้านที่เราได้เปรียบ ซึ่งต้องวางรากฐานการศึกษาตั้งแต่วันนี้
ไฮคลาส : สิ่งที่นักบริหารหรือผู้นำจะต้องมอบให้ประชาชนคือคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ในประเด็นนี้คุณคิดว่าควรจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และจะหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ให้กับประชาชนในทางรูปธรรมได้อย่างไร
ผมคิดว่า คุณภาพชีวิตของคนในประเทศไทย ควรเทียบเท่าคุณภาพชีวิตของคนในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก เรียกว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ อาทิ สิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ สิทธิที่คนทุกกลุ่มจะมีและใช้สาธารณูปโภคที่จำเป็นอย่างเพียงพอ สิทธิที่จะสามารถแสดงออกทางการเมือง สิทธิที่จะมีส่วนพัฒนาประเทศ ซึ่งเรื่องเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ผู้บริหารประเทศที่ผ่านๆ มาให้ความตระหนักในการส่งเสริมสิทธิเหล่านี้ของประชาชนมากน้อยเพียงใด
ไฮคลาส : หากจะมองปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบันต้องยอมรับว่าสภาวะข้าวยากหมากแพงกำลังบั่นทอนความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวนรุนแรง ภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศทางออกในสายตาของคุณคืออะไร
ผมมองว่า ในขณะนี้ รัฐบาลยังมีอำนาจอย่างชอบธรรมในการบริหารประเทศ สมควรที่จะให้ความสำคัญการหาทางออกในเรื่องที่เป็นวิกฤตก่อน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลควรระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิในการแก้ปัญหาสำคัญ อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาพลังงาน ปัญหาเงินเฟ้อ เพื่อช่วยกันวางแผนแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว หาทางออกที่เหมาะสมให้กับคนในประเทศ ซึ่งย่อมดีกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยอาจไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง ทำให้นอกจากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นทับถมตามมาด้วย
ไฮคลาส : เมื่อพูดถึงความมั่นใจทางเศรษฐกิจดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวสะท้อนความมั่นใจเหล่านั้นซึ่งในปัจจุบันดัชนีต่างดิ่งลง คุณมีมุมมองอย่างไร และคิดว่าเป็นหน้าที่ของใครในการแก้ปัญหา หรือจะปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามอุปสงค์อุปทานที่แท้จริงของโลก
ผมเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการเข้าไปแทรกแซงตลาดหุ้น การที่หุ้นตกมีเหตุผลมาจากหลายปัจจัย แต่รัฐบาลควรแก้ไขในส่วนที่หากการที่หุ้นตกเกิดจากความไม่เชื่อมั่นอันเกิดจากรัฐบาล โดยหลักการที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นโดยการบริหารเศรษฐกิจแบบกฎกติกา (Rules) มากกว่าแบบดุลพินิจ (Discretion) หมายความว่า รัฐบาลไม่ควรเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายไปมาตามใจชอบหรือตามสถานการณ์ ซึ่งมักจะทำให้ตลาดเกิดความตื่นตระหนกแต่รัฐบาลควรตั้งเป้าหมายซึ่งอาจเป็นดัชนี (index) บางอย่าง แล้วประกาศว่ารัฐบาลมีพันธะที่จะทำให้เป้าหมายนั้นให้สำเร็จโดยจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แนวคิดนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าจริงจนกระทั่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ด้วย
ไฮคลาส : ในฐานะที่จะเข้ามารับใช้คนกรุงเทพฯ มองวิกฤตและโอกาสของกรุงเทพฯ เปรียบเทียบกับเมืองหลวง-มหานครอื่นๆ ในโลกอย่างไร
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ และมีคุณค่าในตัวเอง ไม่แพ้เมืองหลวง เมืองใหญ่ของหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม อันเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่ควรค่าแก่การสืบสานและเผยแพร่สู่ระดับนานาชาติ นอกจากนี้กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญ การติดต่อระหว่างประเทศ ส่งผลให้เป็นเมืองที่มีความพร้อมในด้านการศึกษา แหล่งงาน อุตสาหกรรม ธุรกิจ บริการต่าง ๆ
ในขณะเดียวกันเมืองหลวงแห่งนี้กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าไม่แพ้กับมหานครใหญ่ ๆ ในโลก เช่น ปัญหาจราจรติดขัด อากาศเป็นพิษ ขยะมูลฝอย น้ำเน่าเสีย อาชญากรรม ประชากรแฝง และความยากจน เป็นต้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดเป้าหมาย วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน [การขาดเป้าหมาย...ยั่งยืน ทำตัวเอนนะครับ...] ทำให้เมืองเติบโตอย่างไม่มีแบบแผน อีกทั้ง ท้องถิ่นมีอำนาจจำกัด ทำให้ดูเหมือนผู้ว่าฯ เป็นเพียง “แม่บ้าน” [แม่บ้านไม่ต้องเน้นตัวเข้มนะครับ...] จัดการงานเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาระดับโครงสร้างได้
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ติดอันดับโลก ดังเช่นเมืองใหญ่อื่น ในโลก จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายให้เกิดความครบถ้วนในการปฏิบัติได้จริงและเกิดผลสัมฤทธิ์ของนโยบาย จำเป็นต้องมีกรอบความคิดที่ชัดเจน และมีการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องทำการศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลเชิงลึก ต้องลงพื้นที่สัมผัสปัญหาจริง และนำมาคิดอย่างสมจริงในบริบทที่มีความจำกัดหลายด้าน เรียกได้ว่า เป็นการใช้ “ปัญญา” [ปัญญาไม่ต้องเน้นตัวเข้มนะครับ...] สร้างเมือง มิใช่การขายนโยบายโดนใจให้คนเลือกเราไปทำหน้าที่ แต่ให้คนกรุงเทพฯ ทุกคนเห็นว่า เมื่อเลือกผู้ที่จะนำนโยบายเหล่านี้ไปทำ
ไฮคลาส : แล้วคุณมองเปรียบเทียบกรุงเทพฯ กับภูมิภาคอย่างไร
ผมเชื่อว่า กรุงเทพฯ ของเรามีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในเรื่องต่าง ๆ ได้ เช่น ศูนย์กลางทางการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2020 จีนกับอินเดียจะมีขนาดจีดีพี ใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 7 ของโลก ซึ่งประเทศไทยจะได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าของจีนและอินเดียน่าจะผ่านทางไทย และเชื่อมต่อมาถึงกรุงเทพฯ ศูนย์การการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ และเชิงสุขภาพ จุดแข็งของกรุงเทพฯ คือ เป็นเมืองที่มีความพร้อมในเรื่องการบริการระดับหนึ่ง ทั้งสาธารณูปโภคที่สอดคล้องกับความต้องการดำเนินการด้านธุรกิจ และความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชนที่พร้อมในการให้บริการแก่ลูกค้าชาวต่างชาติ
ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับคนกรุงเทพฯ เพื่อจะสามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความพร้อมด้านภาษา สาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโต การให้บริการต่างๆ ของ กทม. ที่มีคุณภาพมากขึ้น การพัฒนาระบบความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวต่างชาติที่จะมาลงทุน และท่องเที่ยว
ไฮคลาส : ปัญหาเร่งด่วนของชาวกรุงเทพฯ ที่คุณมองเห็นและคิดว่าจะต้องจัดการ
ผมตั้งวิสัยทัศน์ในการพัฒนากรุงเทพฯ อย่างชัดเจนว่า กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับมาตรฐานโลก ภายในปี ค.ศ.2020 ด้วยเหตุนี้ ใน 4 ปีแรกของผม ผมจะเป็นการวางรากฐาน กลไก และระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาเมือง เพื่อให้คนที่จะมาทำงานต่อจากผม สามารถพัฒนาเมืองไปสู่เป้าหมายได้อย่างไม่ยาก โดยจะจัดทำดัชนีชี้วัดการทำงานทุกอย่างของกรุงเทพฯ ซึ่งจะมาจากการวิเคราะห์ตัวชี้วัดทุกเรื่อง จากทั่วโลก และมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ในส่วนของปัญหาเร่งด่วนที่เป็นเรื่องหนักอกของคนกรุงเทพฯ เช่น รถติด น้ำท่วม ความสะอาด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ ผมจะเร่งดำเนินการ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ยกตัวอย่างเช่น เร่งผลักดันรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จใน 9 สายของรัฐบาล และจะเพิ่มอีก 1 สายที่ลาดพร้าว (ไปบางกะปิและรามฯ) จะทำสงครามกับหนู-แมลงสาบ เป็นต้น ในส่วนของการแก้ไขปัญหาที่เป็นอำนาจของกรุงเทพมหานคร ผมจะเร่งดำเนินการ แต่ในส่วนของภารกิจที่ทับซ้อน หรืออยู่นอกเหนืออำนาจของผู้ว่าราชการฯ ผมจะเป็นเจ้าภาพประสานงานกับผู้มีอำนาจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีความสุข
ไฮคลาส : สิ่งที่คุณจะมอบให้กับคนกรุงเทพฯ
ผมจะมอบความเป็นเมืองน่าอยู่ให้กับคนกรุงเทพฯ กล่าวคือ ผมจะนำรื้อฟื้นสิ่งดีในอดีตของกรุงเทพฯ และทวงสิทธิพื้นฐานด้านคุณภาพชีวิต 8 ด้านคือ สิทธิที่จะใช้ชีวิตมีคุณภาพ สิทธิที่จะได้กินอาหารสะอาด สิทธิที่จะสูดอากาศบริสุทธิ์ สิทธิที่จะอยู่อย่างปลอดภัย สิทธิที่จะเดินทางได้รวดเร็ว ปลอดภัย สิทธิที่จะอยู่ในเมืองที่เป็นระเบียบสะอาด สิทธิที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาตลอดชีวิต และสิทธิที่จะตรวจสอบและร่วมพัฒนาเมือง โดยจะนำนโยบายที่ดีของผู้ว่าฯ ในอดีตมาสานต่อ และสร้างงานใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพื่อให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองน่าอยู่ ติดอันดับมาตรฐานสากล 1 ใน 20 เมืองของโลกในปี ค.ศ. 2020
นอกจากนี้ผมจะให้คนกรุงเทพฯ ทุกคนเป็นเจ้าของเมืองอย่างเต็มภาคภูมิ ทุกคนสามารถนำเสนอความคิด แนวทางในการพัฒนาเมืองในฝันของแต่ละคน โดยผมจะนำแนวคิดเหล่านั้นมาจัดหมวดหมู่ จัดลำดับความสำคัญ และผลักดันให้เกิดขึ้น อีกทั้งผมจะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกำกับงานของกรุงเทพฯ ได้ โดยการตั้งที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ประจำทุกซอย / แขวง / เขต และมีที่ปรึกษาประจำประเด็น เช่น จราจร น้ำเน่า ขยะ ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนได้เป็นผู้หยิบยกปัญหา และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขร่วมกับผู้ว่าฯ อย่างเป็นระบบ
ไฮคลาส : เหตุผลดั้งเดิมที่คุณตัดสินใจเล่นการเมือง และเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.
นับตั้งแต่เด็ก ผมฝันอยากเห็นประเทศไทยน่าอยู่ เป็นประเทศที่พัฒนา มีศักดิ์ศรี คนไทยไม่ตกทุกข์ได้ยาก วิถีที่ผมเลือกดำเนินมาตลอดชีวิต คือ การทำอะไรที่ทำให้เกิดคุณค่ายั่งยืน ผมทำงานมาตลอดหลายสิบปีด้วยอุดมการณ์ ในฐานะนักคิด นักเขียน นักวิชาการ เป็นอาจารย์ ที่ผ่านมา มีทั้งผู้ใหญ่ที่ผมเคารพรัก เพื่อนฝูงที่ผมรักและลูกศิษย์ถามเสมอว่า อ.สอน เขียนหนังสือ และคิดนโยบาย แนวคิดต่าง ๆ จำนวนมาก อยากเห็นสิ่งที่ อ.คิด
เขียนออกมาเป็นรูปธรรมให้คนเห็นจริง และช่องทางหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ ผ่านการเป็นตัวแทนทางการเมือง
เมื่อปี 2548 ผมเป็น สส.อย่างมีจุดยืนทางการเมือง คือ การเสียสละทำสิ่งดีเพื่อคน เพื่อสังคม และเพื่ออนาคตของประเทศ ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมจะยืนข้างคนเสียเปรียบในสังคม เพื่อให้เขาสามารถยืนขึ้นด้วยตนเอง และไม่ส่งเสริมคนโกงกินแต่ร่วมมือต่อต้านการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ
แม้ผมจะออกจากพรรคการเมืองมาแล้ว แต่ผมไม่ได้เข็ดขยาดแวดวงการเมือง เพราะโดยเนื้อแท้แล้วนั้นการเมืองมีความเป็นกลาง ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้เล่น อีกทั้ง ผมมองว่า การเมืองมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นช่องทางสำคัญในการให้ประชาชนได้เลือกสรรและส่งผ่านตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศ ซึ่งหากเราใช้ช่องทางนี้ส่งผ่านคนดี คนเก่ง คนกล้า จำนวนมากเข้าไปได้ ย่อมทำให้เราได้ผู้แทนที่จะนำพาประเทศชาติพัฒนาต่อไปได้
ดังนั้น เมื่อบุคคลที่ผมเคารพนับถือ มิตรสหายที่รัก และลูกศิษย์หลายคน บอกว่า อ.ควรสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. เพื่อช่วยพัฒนากรุงเทพฯ ของเราให้น่าอยู่กว่านี้ ผมจึงตอบตกลง
ไฮคลาส : ภูมิหลังของคุณนั้นเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ และจัดได้ว่ามีความมั่งคั่ง แต่คนส่วนหนึ่งก็มีความเชื่อว่าความอยู่รอดในสังคมการเมืองไทยทุกระดับจำเป็นจะต้องมีพวกพ้อง หลายคนเชื่อว่าคุณเป็นคนเก่งแต่ในขณะเดียวกันก็คิดว่าการทำงานโดยไม่อาศัยพรรคพวกเพื่อนพ้องจะยากที่ประสบความสำเร็จ คิดว่าจะแก้ไขเรื่องพวกนี้อย่างไร หรือว่าใช้เงินทุนส่วนตัว
ผมเป็นคนที่มีมิตรสหายจำนวนมาก เพราะเป็นคนที่ชอบเป็นมิตร ไม่ชอบเป็นศัตรูและไม่สร้างศัตรูกับใคร “มิตรภาพ” [มิตรภาพ ไม่ต้องเน้นเข้มนะครับ...] เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมสะสมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ผมจะเก็บรวบรวมรายชื่อและที่อยู่เพื่อน บุคคลที่ผมรู้จัก ผู้ที่ผมให้ความเคารพนับถือ และรู้จักไว้นับถึงปัจจุบันเกือบแสนราย และทุกคนผมจะหาโอกาสติดต่อสื่อสารพูดคุย และช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ เท่าที่จะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น มิตรสหายของผมจึงเป็นกลุ่มที่สำคัญยิ่งในการอยู่เบื้องหลังและสนับสนุนผม ผมอาจไม่มีนายทุนใหญ่คอยหนุนหลัง แต่จิตใจที่ดีงามและความเสียสละที่จะช่วยเหลือผมของมิตรสหายเหล่านี้ ทำให้ผมมั่นใจว่า ผมไม่ขาดแคลนศักยภาพด้านใดๆ ในการตัดสินใจลงสมัครแข่งขันในครั้งนี้ครับ
ไฮคลาส : คุณแสดงเจตจำนงชัดเจนที่จะสร้างการเมืองสีขาวและเป็นการเมืองที่ปลอดจากธุรกิจ อยากให้คุณแสดงแนวทางของเป้าหมายนี้และจะประสบความสำเร็จอย่างไร
ใช่แล้วครับ สิ่งที่ผมปรารถนา คือ การทำให้การเมืองไทยเป็น “การเมืองสีขาว” [การเมืองสีขาว เน้นสีดำนะครับ...] ไม่ใช่สีดำ หรือสีเทา ที่ผสมปนเปไปด้วยความคลุมเครือของนักการเมืองที่ประชาชนไม่มั่นใจว่า จะเข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์ใดหรือไม่ ผมจึงต้องการสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ด้วยการผลักดันให้การเมืองไทยเป็นการเมืองสีขาว โดยเริ่มต้นด้วยการให้เงินสนับสนุนนั้นมาจากประชาชนจำนวนมาก ไม่ใช่นายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผมเคยเสนอแนวคิดไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2539 ในหนังสือปฏิรูปการเมือง ว่าเราต้องเปลี่ยนให้พรรคการเมืองเป็นพรรคที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่พรรคที่นายทุนเป็นเจ้าของ โดยแก้ไขกฎหมายให้ประชาชนสนับสนุนเงินบริจาคให้พรรคที่ชื่นชอบโดยอาจจูงใจด้วยการลดหย่อนภาษี เพื่อให้พรรคเป็นแหล่งรวมของผู้มีจิตสาธารณะ มีหัวใจอาสาทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง นักการเมืองต้องมีรายได้พอที่จะอยู่รอดโดยไม่ต้องคอร์รัปชั่น ประชาชนมีสำนึกในประชาธิปไตยและปรารถนามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างเท่าเทียม
ไฮคลาส : ใครเป็นผู้สนับสนุนคุณในการลงสมัครครั้งนี้ หรือว่าทั้งหมดทั้งมวลเป็นเงินของคุณเอง
อย่างที่กล่าวข้างต้น ส่วนหนึ่งผมได้รับการสนับสนุนจากมิตรสหาย บุคคลที่ผมเคารพนับถือ ลูกศิษย์ลูกหา คนรู้จักที่ชื่นชอบและสนับสนุนผม นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่ง ผมทำการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปที่เห็นชอบในสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำนั่นคือ “สร้างเมืองด้วยปัญญา” [สร้างเมืองด้วยปัญญา เน้นตัวเข้มและทำตัวเอนด้วยนะครับ...] เมื่อเขาเห็นความตั้งใจจริง การไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีวาระซ่อนเร้น อีกทั้งยังมีนโยบายชัด มีความพร้อมที่จะทำ จึงเห็นด้วยและยินดีให้การสนับสนุน
ไฮคลาส : ถ้าหากได้เข้าไปทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วสิ่งแรกที่อยากจะทำคือสิ่งใด และยังจะมีเวลาในการเป็นคอลัมนิสต์ให้กับผู้อ่านไฮคลาสอีกไหมเพราะงานราชการของมหานครแห่งนี้มากมายจนแทบจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ ได้ทำในสิ่งที่ตนเคยทำก่อนรับตำแหน่ง
ผมตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเข้าไปวางรากฐานกรุงเทพฯ เพื่อมอบเป็นมรดกที่มีค่าแก่คนรุ่นลูก รุ่นหลาน ไม่ใช่เหลือทิ้งไว้แต่มรดกความเสื่อมโทรมของเมืองกรุงเทพฯ ให้พวกเขา ดังนั้น สิ่งแรกที่จะทำคือ การตั้งวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ด้านต่างๆ สู่การเป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายในปี 2020 และจะเผยแพร่วิสัยทัศน์เหล่านี้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและคนกรุงเทพฯทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเห็นชอบร่วมกัน จากนั้นจะนำโครงการที่กทม.กำลังดำเนินการอยู่ทั้งหมดมาพิจารณา ถ้าโครงการไหนดีมีประโยชน์ก็จะดำเนินการต่อไปไม่ล้มเลิก ขณะเดียวกันก็จะดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์นั้น โดยพยายามหาช่องทางอื่นๆ ให้สามารถดำเนินได้โดยไม่ติดขัดที่งบประมาณหรือบุคลากร โดยจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมพัฒนาขอภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือให้มากที่สุด
ส่วนในการทำงานด้านอื่นๆ เนื่องจากผมเป็นคนที่บริหารเวลาได้อย่างดี และมักจะทำงานเป็นทีม ผมจึงสามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ โดยไม่ขาดตกบกพร่อง ดังนั้น เรื่องการเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารไฮคลาส หรือการมีส่วนรวมทำสิ่งอื่นๆ นั้น ผมคิดว่ายังสามารถทำต่อไปได้ครับ
ไฮคลาส : คำถามนี้สะเทือนใจ แต่ทุกคนต่างก็อยากทราบ…หากไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.คุณวางแผนก้าวต่อไปในทางการเมืองอย่างไร หรือว่าจะล้มเลิกการก้าวเดินในเส้นทางนี้ไปเลย
ผมมีความมุ่งมั่นในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าสูงสุด เพื่อผู้อื่น สังคม ประเทศชาติและมนุษยชาติ ตลอดสามสิบปีของการทำงาน ผมจึงมีบทบาทหลากหลาย เพื่อมีส่วนสนับสนุนสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น ดังนั้น แม้หากไม่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ ในครั้งนี้ ผมยังคงทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไปในทุกๆ บทบาที่สามารถทำได้ และหากมีโอกาสกลับเข้ามาทำงานการเมืองอีก ผมก็ยินดี ผมคิดว่า ไม่ว่าเราจะทำสิ่งใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือไม่ หากเราเลือกทำงานที่มีคุณค่าและทำด้วยเห็นคุณค่า ย่อมเกิดผลดีต่อสังคมของเราได้
ไฮคลาส : วิถีชีวิตของคุณหรือก้าวเดินของคุณที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่สนับสนุนหรือขัดกวางการเดินทางของคุณอย่างไร
ผมเป็นคนดำเนินชีวิตอย่างมีอุดมการณ์ และมีหลักการที่ชัดเจน ดังนั้นทุกสิ่งที่ผมเลือกทำจึงสอดคล้องและสนับสนุนวิถีทางของผม แม้ว่าหลายเส้นทางดูจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ก็เป็นความท้าทายที่ผมจะต้องฝ่าฟันไปให้ได้

ผ่าความคิด ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ฤาจะเป็นทางรอดของคนกรุง?

ผ่าความคิด ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ฤาจะเป็นทางรอดของคนกรุง?
คงไม่ต้องแนะนำตัวกันมากสำหรับ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ในฐานะที่เขาเป็นทั้งนักวิชาการ นักการเมือง ยอมรับได้ว่ามีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีโปร์ไฟล์ที่มองเห็นสังคมจากมุมมอง เป็นคนหนึ่งที่สามารถให้ทรรศนะถึงเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ จึงเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งหนึ่งที่เราจะได้พูดคุยกับคอลัมน์นิสต์ขาประจำของเราในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่กับทฤษฎีพอๆ กับการนำไปปฏิบัติ โดยทางผู้ให้สัมภาษณ์นั้นก็มีความยินดีปลีกตัวจากการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ท่ามกลางการแข่งขันในสนามเลือกตั้งที่ร้อนแรงครั้งนี้มาเปิดอกคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นอยู่ และจะดำเนินต่อไป
 ด้วยดีกรีการศึกษาปริญญาเศรษฐศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 มหาวิทยาลัยมอแนช ประเทศออสเตรเลีย ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมอแนช จากนั้นศึกษาหลังปริญญาเอก(Post Doctoral) มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด สหราชอาณาจักร สำเร็จหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชนและการเมือง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (วป ม. รุ่นที่ 1) หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า เบื้องหลังทางการศึกษาที่แข็งแกร่งทำให้เขาได้มีโอกาสผ่านงานวิชาการในฐานะอาจารย์และนักวิจัยประจำสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี มาแล้วหลายโอกาส ล่าสุดนอกเหนือจากบทบาทของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังได้รับแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล นักวิชาการอาคันตุกะมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยรีเจนท์ ด้านภาคธุรกิจเป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัทซัคเซสและบริษัทอื่นๆ อีกกว่า 20 บริษัท
ปัจจุบันจากประสบการณ์ที่สั่งสมมารอบด้าน หลังผ่านเวทีการเมืองระดับชาติก็ถึงช่วงเวลาสุกงอมอีกครั้ง แต่ก่อนจะถึงช่วงเวลาแข่งขันไฮคลาสชวนมาแสดงวิสัยทัศน์ไม่ใช่ในแง่มุมของผู้อาสามารับใช้คนกรุงเทพฯ หากแต่เป็นมิติอันหลากหลายที่ชายไม่ธรรมดาผู้นี้มองเห็น ไม่ใช่เพียงวิสัยทัศน์สำหรับคนเมืองหลวงเท่านั้นหากยังเป็นแนวทางฝันของคนไทย
Next