Saturday, September 25, 2010

โรคไข้หวัดใหญ่ (H1N1) 2009




sukk.araya is moved by the inspiration of
my teachers,
my friends and  



----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สถานการณ์โรค และ แนวทางการเร่งรัดการป้องกันแก้ไขโรคไข้หวัดใหญ่ (H1N1) 2009
















10 กันยายน 2553
สถานการณ์โรค
ในต่างประเทศ
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ (H1N1) 2009 ได้ขยายการระบาดและส่งผลกระทบเป็นวิกฤติทางสาธารณสุขของประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงาน องค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2553 (เว็บไซต์ http://www.who.int/) พบการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ในภูมิภาคเอเซียใต้ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้บางส่วน และสหรัฐอเมริกา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ 25 ประเทศ ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A ร้อยละ 90.8 ส่วนใหญ่เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) และไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด B ร้อยละ 9.2

ในประเทศไทย
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ (H1N1) 2009 ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2553 แพร่ระบาดในประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก กล่าวคือ ลักษณะการระบาดจะเริ่มจากการพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศต้นเดือนพฤษภาคม 2552 ต่อมาเริ่มมีการแพร่ในวงจำกัด และแพร่กระจายเป็นวงกว้าง จนปัจจุบัน ณ วันที่ 1 กันยายน 2553 พบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ 254 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยคาดว่าจะมีหลายล้านคนทั่วประเทศ
บทวิเคราะห์สถานการณ์ 
ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฏาคม 2553 เป็นต้นมา ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ การระบาดเกิดขึ้นในทุกจังหวัดและจำนวนผู้ป่วยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการระบาดเป็นกลุ่มใหญ่ในโรงเรียน โรงงาน ค่ายทหาร เรือนจำ และสถานที่ทำงานโดยทั่วไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน วัยทำงาน และวัยกลางคน ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และผู้มีน้ำหนักตัวมาก เป็นต้น เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เป็นสาเหตุของการระบาดมีหลายตัว รวมทั้งเชื้อไข้หวัดใหญ่ (H1N1) 2009 คาดการณ์ว่าการระบาดในฤดูนี้จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องอีกหลายเดือน และจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น หากไม่มีการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการระบาดอย่างเต็มที่
ไข้หวัดใหญ่สามารถระบาดได้ในทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ นอกจากนี้สถานที่หรือชุมชนบางประเภทอาจมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีคนอยู่รวมกันหนาแน่น จะมีการแพร่กระจายเชื้อโรคไปได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการป้องกันและจัดการปัญหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียง และเป็นความร่วมมือป้องกันควบคุมการระบาดในประเทศ

แนวทางการเร่งรัดการป้องกันแก้ไขโรคไข้หวัดใหญ่ (H1N1) 2009
          การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่มีผลให้เกิดการเจ็บป่วยในวงกว้างและเสียชีวิตได้ จึงมีความจำเป็นต้องระดมความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ลดการป่วย การเสียชีวิต และ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้ได้ดีที่สุด
          แนวทางการป้องกันควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขในระยะนี้  จึงควรต้องเร่งรัดเตรียมความพร้อมและป้องกันแก้ไขการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในทุกหน่วยงานและทุกระดับ  โดยเน้นหนักใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ คือ
            1. เร่งรัดการเผยแพร่คำแนะนำวิธีป้องกันโรค
โดยเร่งเผยแพร่สื่อสารความรู้การป้องกันโรคและการดูแลตนเองอย่างทั่วถึง เน้นการป้องกันโรคโดยการล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการชุมนุมในขณะที่มีการระบาด การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ การหยุดเรียนหรือหยุดงานเมื่อมีอาการป่วย

2. จัดการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง
โดยให้มีการสำรวจผู้ที่มีอาการป่วยเป็นรายวัน และแนะนำให้หยุดงาน หยุดเรียน หรือไปรับการรักษาจนกว่าจะหายป่วย พร้อมทั้งรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหากมีผู้ป่วยจำนวนหลายคน

            3. หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการชุมนุมของคนหมู่มาก
โดยในช่วงที่มีการระบาด ควรหลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมดังกล่าว หรือคัดแยกผู้ที่มีอาการป่วยไม่ให้ร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ สามารถติดตามคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรค ได้ที่
1. เว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข http://www.moph.go.th/ หรือ ศูนย์บริการข้อมูลประชาชน กระทรวงสาธารณสุข สายด่วน 1422 และ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์หมายเลข 0 2590 3333
2. กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์
0 2245 8106, 0 2246 0358 และ 0 2354 1836 หรือ สายด่วน กทม. 1555 
3. ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

----------------------------------------------------------------------------------------

เชื้อสาเหตุ

เกิด จากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 (A/H1N1) เป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน สุกร และนก

เป็นโรคที่แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน  พบที่ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา แล้วแพร่ไปยังอีกหลายประเทศ

การแพร่ติดต่อ

การ แพร่ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งเกิดขึ้นได้ง่าย เกิดจากการถูกผู้ป่วยไอ จามรดโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายในระยะ 1 เมตร เนื่องจากเชื้อไวรัสอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย แต่บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อน เชื้อ  เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก

ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากสุด ระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน

อาการป่วย

ผู้ ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1-3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน อาการป่วยใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

การรักษา

ผู้ ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันทีแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาดี

ผู้ ป่วยที่อาการไม่มาก เช่น ไข้ต่ำๆตัวไม่ร้อนจัด และยังรับประทานได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษาที่บ้านได้โดย

*    รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ วิตามิน และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น

*    ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็น

*    พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มากพอเพียง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น

*    ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทายาจนหมดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ใช้เชื้อดื้อยา

*    ให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ

*    หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

*    หากต้องดูแลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย และให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยด้วย หลังดูแลผู้ป่วยทุกครั้ง ควรรีบล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ให้สะอาดทันที

*    ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

*    ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

*    หมั่นล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง ไอ จาม

*    รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งไข่ นม ผัก และผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่ และสุรา

การป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ

*    หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรหยุดงานหยุดเรียน เป็นเวลา 3-7 วัน ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้มาก

*    หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น

*    สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่กับผู้อื่น หรือใช้ทิชชูปิดจมูกปากทุกครั้งที่ไอจาม ทิ้งทิชชูลงในถังขยะที่มีฝาปิด แล้วล้างมือให้สะอาด





-------------------------------------------------------------------------------
วิธีป้องกันและควบคุมไข้หวัด 2009 จาก สสส http://www.thaihealth.or.th/node/9523


          ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1 เอ็น1) กำลังขยายตัวไปทั่วโลก และขณะนี้ประเทศไทยพบการระบาดภายในประเทศแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษา และสถานประกอบการ ซึ่งอาจแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีอาการคล้ายกันกับไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ส่วนใหญ่มีอาการน้อยและหายได้โดยไม่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล

          สำหรับผู้ป่วยจำนวนไม่มากในต่างประเทศที่เสียชีวิต มักเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน เป็นต้น ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ โรคอ้วน ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และหญิงมีครรภ์

          สำหรับวิธีการติดต่อและวิธีการป้องกันโรค จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ธรรมดา กระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้คำแนะนำในการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1 เอ็น1) ดังต่อไปนี้

          คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป


          1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ

          2. ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น

          3. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด

          4. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          5. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น

          6. ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด


          คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

          1. หากมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูง ไม่ซึม และรับประทานอาหารได้ สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ควรใช้พาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ

          2. ควรหยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

          3. สวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่น หรือใช้กระดาษทิชชู ผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอ จาม

          4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ โดยเฉพาะหลังการไอ จาม

          5. หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก ซึม ควรรีบไปพบแพทย์

          คำแนะนำสำหรับสถานศึกษา

          1. แนะนำให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้านหรือหอพัก หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

          2. ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนในแต่ละวัน หากพบขาดเรียนผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในห้องเรียนเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค

          3. แนะนำให้นักเรียนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เฝ้าสังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา 7 วัน ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

          4. หากสถานศึกษาสามารถให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ทุกคนหยุดเรียนได้ ก็จะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ดี และไม่จำเป็นต้องปิดสถานศึกษา แต่หากจะพิจารณาปิดสถานศึกษา ควรหารือร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

          5. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่อย่างเพียงพอ ในบางวันควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

          คำแนะนำสำหรับสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน

          1. แนะนำให้พนักงานที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ พักรักษาตัวที่บ้าน หากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

          2. ตรวจสอบจำนวนพนักงานที่ขาดงานในแต่ละวัน หากพบขาดงานผิดปกติ หรือตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในแผนกเดียวกัน และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค

          3. แนะนำให้พนักงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เฝ้าสังเกตอาการของตนเองเป็นเวลา 7 วัน ถ้ามีอาการป่วยให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

          4. ในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่แนะนำให้ปิดสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงาน เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่

          5. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะทำงาน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำผงซักฟอกทั่วไปเช็ดทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง จัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่อย่างเพียงพอ ในบางวันควรเปิดประตู หน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

          6. ควรจัดทำแผนการประคองกิจการในสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง หากเกิดการระบาดใหญ่ (ดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค http://beid.ddc.moph.go.th)

-----------------------------------------------------------------------------------

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
ระยะหลังการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ (H1N1)2009 (post-pandemic period)
                                                                                                              30 ส.ค. 53

กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ แปลและเรียบเรียงโดยสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่
ในปัจจุบัน ทั่วโลกได้เข้าสู่ภาวะหลังการระบาดของไข้หวัดใหญ่ด้วยข้อมูลความรู้ที่มีอยู่ จากการระบาดใหญ่ในอดีต ทำให้คาดการณ์ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ (H1N1) 2009 จะยังคงมีการแพร่กระจายอย่างทั่วไปเช่นเดียวกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในช่วงหลายปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าความตระหนักของประชาชนได้ลดลงเป็นอย่างมาก แต่การเฝ้าระวังโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศต่างๆ ยังคงมีความสำคัญ เช่นเดียวกับ การเฝ้าระวังไวรัสในระยะหลังการระบาดใหม่ๆ ก็ยังคงเป็นช่วงที่สำคัญ เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์พฤติกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้เช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
ตัวอย่างเช่น ไวรัสยังคงมีการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็ก อย่างน้อยในช่วงหลังการระบาดใหญ่เพิ่งผ่านพ้นไป แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวจะลดน้อยลง แต่กลุ่มเด็กยังคงถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดต่อการเกิดอาการของโรครุนแรง และนอกจากนี้ ประชากรจำนวนไม่มากกลุ่มหนึ่งติดเชื้อ เกิดอาการปอดบวมจากการติดเชื้อไวรัสในระยะแรก ซึ่งมักไม่พบในไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และยากต่อการรักษา ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์รูปแบบของการระบาดในช่วงหลังการระบาดของโรค  ทำให้ต้องมีการเน้นย้ำเรื่องการเฝ้าระวังโรคต่อไป
องค์การอนามัยโลก ได้ออกคำแนะนำข้อควรปฏิบัติในระยะหลังระบาดของโรค รวมถึงการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา และการติดตามทางไวรัสวิทยา การฉีดวัคซีน และการดูแลรักษาพยาบาล
เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ยังคงต้องระมัดระวังการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) 2009 ในพื้นที่ซึ่งจะยังเกิดขึ้นต่อไป และในบางพื้นที่การระบาดอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อชุมชน

คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในระยะหลังการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
1.             การเฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจ
·       เฝ้าระวังเหตุการณ์ที่ผิดปกติ  เช่น กลุ่มก้อนของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ
·       สอบสวนโรคกรณีที่พบผู้ป่วยรุนแรง หรือมีความผิดปกติ, การระบาดเป็นกลุ่มก้อน ที่อาจพบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางด้านระบาดวิทยา หรือทางด้านความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่
·       จัดระบบการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเฝ้าระวังกลุ่มผู้มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่และกลุ่มผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง
·       จัดช่องทางในการจัดส่งข้อมูล ไปยังหน่วยงานเฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจ เช่น FluID, FluNet และ EUROFlu เพื่อการรวบรวมข้อมูลโรค
·       แจ้งองค์การอนามัยโรคทันที รวมทั้งการรายงานภายใต้ระบบกฎอนามัยระหว่างประเทศ หากตรวจพบ กรณีดังต่อไปนี้
                        1. การแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ดื้อยา
                        2. การติดเชื้อในคนด้วยไวรัสไข้หวัดใหญ่ตัวอื่นที่ไม่ได้มีการระบาดในคน
                        3. การเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ ของไวรัส H1N1 2009 ในด้านความรุนแรงหรือ    ลักษณะทางระบาดวิทยา และด้านคลินิกอื่นๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในการแพร่กระจาย            ในกลุ่มอายุ ลักษณะทางคลินิก สัดส่วนของผู้ป่วยหนักใน ICU การเพิ่มขึ้นที่คาดไม่ถึงของ              จำนวนผู้ป่วย
·       การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่สำคัญของไวรัส (H1N1) 2009 เช่น แอนติเจน หรือความไวต่อยาต้านไวรัส

การใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่
การฉีดวัคซีน ยังเป็นสิ่งสำคัญ ในการลดการเจ็บป่วยและการตายที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงสูงในประเทศที่มีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ซึ่งเป็นสาเหตุการแพร่ระบาดในปี 2009 และยังคงแพร่กระจายในบางส่วนของโลกมีความรุนแรงในการระบาดหลายระดับแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในหลายประเทศได้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดวัคซีนรวม 3 สายพันธุ์ (trivalent) ที่ตัววัคซีนดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงสายพันธุ์ใหม่ (H1N1) 2009 แล้วด้วย แต่อย่างไรก็ตามในบางประเทศที่ยังไม่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้ องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำว่า สามารถใช้วัคซีน H1N1 ชนิดวัคซีนสายพันธุ์เดี่ยว (monovalent) ก็ได้ ในการลดความเสี่ยงจากไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ (H1N1) 2009 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ไม่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ชนิดวัคซีนรวม 3 สายพันธุ์ (trivalent)
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ H1N1 ชนิด monovalent ควรให้ตามแนวทางของหน่วยงานผู้ควบคุมกำกับดูแลวัคซีนภายในประเทศ ในการนี้องค์การอนามัยโลกจะได้ทำการปรึกษาคณะผู้เชี่ยวชาญต่อไป

การดูแลรักษาพยาบาล
ผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้หวัดใหญ่  ควรได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม ตามแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ขององค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าเชื้อไวรัส H1N1 2009 จะยังคงเกิดการระบาดคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในช่วงหลายปีที่จะถึงนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมทั้งกลุ่มคนสุขภาพดีก็อาจพบได้มาก การวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว เพื่อการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาอย่างรวดเร็วและการรักษาที่เหมาะสมในกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้จึงมีความสำคัญ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เสนอคำแนะนำสำหรับการใช้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและโรคไข้หวัดใหญ่ 2009
กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ (H1N1) 2009 คือ กลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางระบบหายใจและระบบอื่น ๆ เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน เป็นต้น ผู้ป่วยดังกล่าวที่มีอาการไข้หวัดใหญ่รุนแรงหรือทรุดลง ควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ด้วยยาต้านไวรัส (oseltamivir) ผู้ป่วยที่ความเสี่ยงที่จะเกิดการป่วยรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ด้วยแล้ว ควรได้รับการรักษาด้วย oseltamivir หรือ zanamivir โดยเร็วที่สุดเช่นกัน

ที่มา : World Health Organization. WHO recommendations for the post-pandemic period.[cited 2010 Aug 23]. Available from:URL:http://www.who.int/csr/disease/swineflu/notes/briefing_20100810/en/index.html.



*********************************************


 

No comments:

Post a Comment