Wednesday, September 7, 2011

สอน “ทักษะแก้ปัญหา” ให้เด็กไทย


สอน “ทักษะแก้ปัญหา” ให้เด็กไทย
ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
                                     
ปัจจุบันมีหลายเหตุการณ์ ที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนไทยจำนวนมาก ขาดทักษะการแก้ปัญหาชีวิต พิจารณาจากเหตุการณ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือผลงานวิจัย อาทิ เด็กวัยรุ่นผิดหวังในความรักหาทางออกโดยการยิงตัวตายหรือกระโดดตึกตาย เด็กมัธยมปลายฆ่าตัวตายเพราะไม่ได้เรียนในคณะที่คาดหวังไว้ ฯลฯ โครงการ Child Watch โดยสถาบันรามจิตติ ได้สรุปสภาวการณ์เด็กไทยด้านต่าง ๆ ไว้ในช่วงปี             2548-2549       ด้านภาวะสุขภาพจิตของเด็กไทย พบว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี พยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 40 คนต่อแสนคน หรือคิดเป็นจำนวนเยาวชนที่พยายามฆ่าตัวตายปีละ 7,800 คน หรือเฉลี่ยวันละ 21 คน และที่ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ 800 หรือเฉลี่ยวันละ 2 คน ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้อธิบายสาเหตุการฆ่าตัวตายว่า เกิดจากอาการซึมเศร้าซึ่งมาจากความวิตกกังวลและไม่สามารถจัดการกับปัญหาตนเองได้
การวิจัยของนักจิตวิทยาพบว่า ทักษะการแก้ปัญหาของเด็กจะพัฒนาขึ้นตามอายุ โดยเด็กอายุ 3 ขวบ เริ่มมีพัฒนาการด้านนี้แล้ว ขึ้นกับว่าระหว่างที่เด็กเจริญเติบโตนั้น มีปัจจัยใดบ้างที่เข้ามาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา อาทิ เด็กอาจมีความจำกัดในเรื่องของความมุ่งมั่นตั้งใจ ขาดความอดทนในการบรรลุเป้าหมายการเอาชนะปัญหา และขาดความเข้าใจปัญหาในเชิงเหตุผล ในขณะที่สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา ไม่ได้มีความเข้าใจและมีวิธีการพัฒนาทักษะของเด็กในการแก้ปัญหาตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม
บทความนี้ นำเสนอตัวอย่างหลักสูตรที่สอนทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการเรียนการสอนอย่างจริงจัง ในขณะที่ต่างประเทศมีหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนและพัฒนาโปรแกรมสำหรับการสอนในครอบครัว
ตัวอย่างโปรแกรมการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ (Creative Problem Solving Program: CPS) พัฒนาโดย Donald J. Treffinger, Scott G. Isaksen, & K. Brian Dorval ซึ่งเป็นกระบวนการในการคิดแก้ปัญหาโดยเริ่มจากการมีความเข้าใจในตัวปัญหา การคิดสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกของปัญหาในมุมของความเป็นไปได้ และการวางแผนในภาคปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โปรแกรม ICPS (I Can Problem Solve) พัฒนาโดย Myma B. Shure, Ph.D. จาก Mental Health Services, DuPage County Health Department Wheaton, Illinois เป็นบทเรียนที่ใช้ปูพื้นฐาน และฝึกฝนทักษะในการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบให้กับผู้เรียน
ตัวอย่างหลักสูตรและโปรแกรมดังกล่าว มีลักษณะร่วมดังนี้
ฝึกผู้เรียนให้คิดและมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อปัญหา โดยสอนผู้เรียนให้มองปัญหาอย่างสมจริง ไม่ใช่ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ ไม่มองเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ หรือในทางตรงข้าม ไม่เพิกเฉยต่อปัญหา แต่ลงมือแก้ไขปัญหาจนสำเร็จ สอนให้ผู้เรียนเข้าใจว่าปัญหาเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเผชิญ และปัญหาสามารถช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ จนสร้างผู้เรียนให้เป็นคนที่อดทนสามารถเอาชนะปัญหาได้
ฝึกผู้เรียนให้มีทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นได้ เกิดจากการฝึกทักษะการคิดเป็นพื้นฐาน อาทิ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ เพื่อช่วยในการขยายกรอบความคิด ไม่ยึดติดกับการปัญหาหรือวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ และคิดหาวิธีการหรือแนวทางแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ๆ ให้ผู้เรียนได้รู้ว่าในหนึ่งปัญหาสามารถหาทางออกได้มากกว่าหนึ่งทาง ทักษะการคิดเชิงตรรกะ การเชื่อมโยงเหตุและผล เพื่อนำมาเปรียบเทียบ หาผลกระทบ หาทางเลือกที่ดีที่สุดและเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหา ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ โดยก่อให้เกิดผลกระทบทางลบให้น้อยที่สุดหรือไม่ให้เกิดขึ้นเลย
วิธีการใช้ชุดคำถามที่สามารถใช้ผ่านชีวิตประจำวัน อาทิ ชุดคำถามจำพวก “มีอะไรอีกไหม”  “มีทางอื่นอีกไหม” เพื่อฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ ให้ผู้เรียนได้ขยายกรอบความคิดให้กว้างไกลกว่าเดิม ชุดคำถามจำพวก “ก่อน...หลัง”   “ถ้า...แล้ว”   “ขณะนี้...หลังจากนี้” “เหมือน...ต่าง”  “ทำไม...เพราะ” เพื่อฝึกฝนการใช้ตรรกกะ การใช้เหตุและผล การกลั่นกรองเรียงลำดับความสำคัญของปัญหา และสามารถใช้การเล่นบทบาทสมมติ เล่านิทาน หรือภาพยนตร์ ละคร และข่าว เป็นกรณีศึกษาในการแก้ปัญหา โดยใช้คำถามง่าย ๆ เช่น หากเราเป็นบุคคลนั้น เราจะตอบสนองต่อปัญหานี้อย่างไร? ถ้าเจอปัญหาแบบคนที่อยู่ในข่าวจะหาทางออกให้กับตัวเองอย่างไร? เป็นต้น
ฝึกผู้เรียนให้มีทักษะการเข้าใจผู้อื่น เนื่องจากองค์ประกอบส่วนใหญ่ของปัญหามักมีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง การฝึกการคิดคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น เป็นการฝึกการคิดอย่างรอบคอบว่า เราควรใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบใดที่ไม่ทำให้ผู้อื่นต้องรู้สึกไม่พอใจจนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง นอกจากนี้ เป็นการตระหนักรู้ในอารมณ์ความรู้สึกของตนเองว่ามีอารมณ์และลักษณะนิสัยแบบใด ที่เป็นจุดอ่อนซึ่งสร้างความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ง่าย เช่น เป็นคนใจร้อน โกรธง่าย จุกจิก ฯลฯ อาจใช้ชุดคำศัพท์หรือชุดคำถามจำพวก “ยุติธรรมหรือไม่”  “หากเราทำเช่นนี้แล้ว...เขาจะรู้สึกอย่างไร” “หากเขาทำเช่นนั้นกับเรา...เราจะรู้สึกอย่างไร” เป็นต้น เพื่อฝึกให้ผู้เรียนคิดถึงความรู้สึกผู้อื่น
นอกจากนี้ ระหว่างฝึกทักษะการแก้ปัญหาในภาคปฏิบัติ ครูจะไม่ตัดสินความคิดเห็นผู้เรียนว่าดีหรือไม่ดี แต่พยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดให้ลึกที่สุด โดยให้ความสำคัญในเรื่องการเชื่อมโยงเหตุและผล หากครูรีบตัดสินความคิดของผู้เรียนมาเกินไป ผู้เรียนจะสร้างกลไกการป้องกันตนเอง และไม่กล้าแสดงความคิด
ทักษะการแก้ปัญหา เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนไทย เพื่อสามารถเผชิญปัญหาต่าง ๆ ได้ มิใช่เพิกเฉยต่อปัญหา หนีปัญหา หรือแก้ปัญหาด้วยวิธีการไม่เหมาะสมจนเกิดผลเสียต่อตนเองหรือส่วนรวมได้ และอาจพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมส่วนรวมได้

2 comments:

  1. ฝึกผู้เรียนให้มีทักษะการเข้าใจผู้อื่น เนื่องจากองค์ประกอบส่วนใหญ่ของปัญหามักมีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง การฝึกการคิดคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น เป็นการฝึกการคิดอย่างรอบคอบว่า เราควรใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบใดที่ไม่ทำให้ผู้อื่นต้องรู้สึกไม่พอใจจนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง นอกจากนี้ เป็นการตระหนักรู้ในอารมณ์ความรู้สึกของตนเองว่ามีอารมณ์และลักษณะนิสัยแบบใด ที่เป็นจุดอ่อนซึ่งสร้างความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ง่าย เช่น เป็นคนใจร้อน โกรธง่าย จุกจิก ฯลฯ อาจใช้ชุดคำศัพท์หรือชุดคำถามจำพวก “ยุติธรรมหรือไม่” “หากเราทำเช่นนี้แล้ว...เขาจะรู้สึกอย่างไร” “หากเขาทำเช่นนั้นกับเรา...เราจะรู้สึกอย่างไร” เป็นต้น เพื่อฝึกให้ผู้เรียนคิดถึงความรู้สึกผู้อื่น

    ReplyDelete
  2. ฝึกฝนทักษะในการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบให้กับผู้เรียน

    ReplyDelete