Wednesday, September 7, 2011

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ : ความต้องการจะตายที่ถูกกฎหมาย

 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในมาตรา10 ที่ระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณะสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต…”
              ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสิทธิที่ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณะสุขไม่ได้หมายถึง การขอให้แพทย์ฆ่าตนเองให้ตาย (การุณยฆาต) ซึ่งเรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นถกเถียงในหลายประเทศว่า คนไข้หรือญาติของคนไข้นั้นมีสิทธิหรือไม่ที่จะตัดสินใจที่จะไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไป โดยสามารถขอให้แพทย์ฉีดยาหรือทำวิธีการใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้ตนเองตายอย่างไร้ความทรมาน
              สำหรับประเด็นการอนุญาตให้คนไข้สามารถปฏิเสธที่จะรับการรักษา หากเป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ผมคิดว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องมีความละเอียดอ่อนมากและผมยังไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิดังกล่าวแก่หมอและคนไข้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

              แพทย์แต่ละคนมีมาตรฐานการวินิจฉัยไม่เหมือนกัน

เนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนว่า ใครคือผู้อำนาจในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และอะไรคือจุดที่ตัดสินว่าเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากแพทย์แต่ละคนมีความสามารถหรือความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคที่แตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้ที่เรียนมา ด้วยเหตุนี้การวินิจฉัยของแพทย์แต่ละคนจึงมีความแตกต่างกัน
ในบางครั้งเราอาจได้ยินข่าวหรือเห็นตัวอย่างคนไข้ที่เข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลหนึ่งแต่ไม่หาย และหมออาจจะบอกว่าไม่มีทางรอดและให้คนไข้ทำใจ แต่หลังจากย้ายโรงพยาบาลหรือเปลี่ยนหมอ คนไข้กลับหายจากโรคและรอดตาย ผมเกรงความรู้ของแพทย์ที่ไม่สมบูรณ์อาจทำให้คนไข้หลายคนตัดสินใจผิดพลาด โดยไม่ยอมรับการรักษา เพราะอาจเชื่อฟังคำพูดของหมอว่าการรักษาเป็นเพียงการยืดเวลาตายออกไปเท่านั้น แต่หมอท่านอื่นอาจมีความสามารถและวิธีการที่รักษาให้หายได้
              เทคโนโลยีการรักษามีการพัฒนารวดเร็ว
              กฎหมายดังกล่าวอาจละเลยประเด็นเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ซึ่งปัจจุบัเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนเราอาจคิดไม่ถึง โรคที่ยังไม่สามารถรักษาหายได้ในปัจจุบัน อาจจะมีเทคโนโลยีที่สามารถรักษาให้หายได้ในอนาคต
             ดังตัวอย่างของวัณโรคซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาล จนหลายคนคิดว่าโรคนี้ไม่มีทางรักษาได้ คนที่เป็นโรคนี้ต้องตายสถานเดียวเท่านั้น! แต่ในที่สุดได้มีผู้ค้นพบวิธีการรักษาวัณโรคให้หายได้
              เช่นเดียวกับโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาให้หายขาดได้ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ คนที่กลายเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทรา ซึ่งในปัจจุบันเชื่อกันว่าไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากแพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจออก คนไข้จะเสียชีวิตทันที แต่คำถามคือ เราแน่ใจได้อย่างไรว่า ในอนาคตจะไม่มีการคิดค้นวิธีรักษาให้หายได้
              คนไข้ไม่มีความสามารถในการตัดสินใจได้ดีพอ
             ผมไม่เชื่อว่าคนไข้ที่ป่วยหนักอยู่ประกอบกับไม่มีความรู้ทางการแพทย์จะอยู่ในสภาวะที่สามารถตัดสินใจได้ดีที่สุด ดังนั้นกฎหมายไม่ควรจะให้คนไข้ตัดสินใจ เพราะคนไข้ที่ใกล้ตายมักจะอยู่ในความทุกข์ทรมานมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะตัดสินใจอย่างไม่ถูกต้อง โดยใช้อารมณ์ความรู้สึก
              บางคนอาจจะแย้งว่าบางประเทศอนุญาตให้คนป่วยทำหนังสือแสดงความประสงค์ไว้ก่อล่วงหน้า ในขณะที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายกับตัวเอง หรือยังมีอาการป่วยไม่รุนแรงมาก แล้วหากวันหนึ่งวันใดที่ตัวเองนอนป่วยอาการหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง ญาติพี่น้องอาจจะนำหนังสือดังกล่าวนั้นแสดงให้แพทย์ได้ทราบว่า คนไข้ไม่ต้องการรับการรักษา การอนุญาตให้คนไข้ตัดสินใจเช่นนี้ ยังคงเป็นการตัดสินใจโดยมีข้อมูลและความรู้ที่ไม่ครบถ้วน เพราะคนไข้ไม่รู้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่สามารถรักษาโรคให้หายได้ในอนาคตหรือไม่ และไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์ดีพอ
              ก่อให้เกิดความเสียหายต่อศีลธรรมในสังคม
             ผมเห็นว่ากฎหมายข้อนี้ยังมีช่องว่างมากและหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม การให้คนไข้ปฏิเสธไม่รับการรักษาไม่แตกต่างจากการอนุญาตให้คนไข้ตัดสินฆ่าตัวตายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่ผู้เป็นแพทย์ไม่ใช่ผู้ที่ลงมือกระทำเท่านั้นเอง เพราะแพทย์ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าหากคนไข้ไม่ยอมให้รักษาเขาจะต้องตายอย่างแน่นอน แต่การรับรักษาต่อไปอาจทำให้คนไข้มีโอกาสรอด หรืออย่างน้อยอาจจะยืดอายุเพื่อรอการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาใหม่ ๆ
             กฎหมายดังกล่าวอาจทำให้จริยธรรมของแพทย์เสียหายได้ในอนาคตหากแพทย์เห็นว่าคนไข้อาการหนักอาจเลี่ยงไม่ใช้พยายามรักษาคนไข้อย่างเต็มความสามารถ หรือคนไข้ที่อยู่ในโครงการรักษาฟรี แพทย์อาจจะพยายามลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล โดยการวินิจฉัยว่าไม่มีโอกาสกาสรอด
              ประการสำคัญ หากกฎหมายดังกล่าวถูกประกาศใช้ จะทำให้มาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมเริ่มเสื่อมลง โดยกฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในสังคมเริ่มยอมรับการฆ่าตัวตายโดยการอ้างเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ มากขึ้น และในที่สุดจะนำไปสู่การยอมรับการกระทำที่มีน้ำหนักความรุนแรงต่อศีลธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำแท้ง การุณ์ยฆาต เป็นต้น
              สภานิติบัญญัติแห่งชาติจำเป็นต้องคิดให้จงหนักและรอบคอบ เพราะกฎหมายฉบับนี้อาจกลายเป็นใบอนุญาตฆ่าชีวิตคนเพราะความไม่รู้หรือไม่ได้ตั้งใจ

ขอบคุณบทความ จาก http://www.oknation.net/blog/kriengsak

ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  (Professor Kriengsak Chareonwongsak)

1 comment:

  1. เทคโนโลยีการรักษามีการพัฒนารวดเร็ว
    กฎหมายดังกล่าวอาจละเลยประเด็นเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ซึ่งปัจจุบัเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนเราอาจคิดไม่ถึง โรคที่ยังไม่สามารถรักษาหายได้ในปัจจุบัน อาจจะมีเทคโนโลยีที่สามารถรักษาให้หายได้ในอนาคต

    ReplyDelete