การวิจัยของนักจิตวิทยาพบว่า ทักษะการแก้ปัญหาของเด็กจะพัฒนาขึ้นตามอายุ โดยเด็กอายุ 3 ขวบ เริ่มมีพัฒนาการด้านนี้แล้ว ขึ้นกับว่าระหว่างที่เด็กเจริญเติบโตนั้น มีปัจจัยใดบ้างที่เข้ามาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาอาทิ เด็กมีความจำกัดในเรื่องของความมุ่งมั่นตั้งใจ ขาดความอดทนในการเอาชนะปัญหา และขาดความเข้าใจปัญหา ขณะที่สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาไม่ได้มีความเข้าใจ และมีวิธีการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาให้แก่เด็กอย่างถูกต้อง
ศาตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ขอนำเสนอตัวอย่างหลักสูตรที่สอนทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการสอนอย่างจริงจัง ในขณะที่ต่างประเทศมีหลักสูตรดังกล่าวแล้ว

ฝึกการมองปัญหาอย่างถูกต้องโดยสอนผู้เรียนให้มองปัญหาอย่างสมจริง ไม่ใช่ตื่นตระหนกจนเกินไป ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ขณะเดียวกัน ก็ไม่เพิกเฉยต่อปัญหา แต่ลงมือแก้ไขปัญหาจนสำเร็จ สอนให้ผู้เรียนเข้าใจว่าปัญหาเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเผชิญ และปัญหาสามารถช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา และสร้างผู้เรียนให้เป็นคนที่อดทนสามารถเอาชนะปัญหาได้
ฝึกทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นได้ เกิดจากการฝึกทักษะการคิดเป็นพื้นฐาน อาทิ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ เพื่อช่วยในการขยายกรอบความคิด ไม่ยึดติดกับการปัญหาหรือวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ และคิดหาวิธีการหรือแนวทางแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ๆ ให้ผู้เรียนได้รู้ว่าในหนึ่งปัญหาสามารถหาทางออกได้มากกว่าหนึ่งทาง ทักษะการคิดเชิงตรรกะ การเชื่อมโยงเหตุและผล เพื่อนำมาเปรียบเทียบ หาผลกระทบ หาทางเลือกที่ดีที่สุดและเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหา ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ โดยก่อให้เกิดผลกระทบทางลบให้น้อยที่สุดหรือไม่ให้เกิดขึ้นเลย
วิธีการใช้ชุดคำถามที่สามารถใช้ผ่านชีวิตประจำวัน อาทิ ชุดคำถามจำพวก
- มีอะไรอีกไหม
- มีทางอื่นอีกไหม
เพื่อฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ ให้ผู้เรียนได้ขยายกรอบความคิดให้กว้างไกลกว่าเดิม ชุดคำถามจำพวก
- ก่อน...หลัง
- ถ้า...แล้ว
- ขณะนี้...หลังจากนี้
- เหมือน...ต่าง
- ทำไม...เพราะ
เพื่อฝึกฝนการใช้เหตุและผล การกลั่นกรองเรียงลำดับความสำคัญของปัญหา และสามารถใช้การเล่นบทบาทสมมติ เล่านิทาน หรือภาพยนตร์ ละคร และข่าว เป็นกรณีศึกษาในการแก้ปัญหา โดยใช้คำถามง่าย ๆ เช่น หากเราเป็นบุคคลนั้น เราจะตอบสนองต่อปัญหานี้อย่างไร? ถ้าเจอปัญหาแบบคนที่อยู่ในข่าวจะหาทางออกให้กับตัวเองอย่างไร? เป็นต้น
ฝึกการเข้าใจผู้อื่น องค์ประกอบส่วนใหญ่ของปัญหา มักมีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง การฝึกการคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น เป็นการฝึกการคิดอย่างรอบคอบว่า เราควรใช้การแก้ปัญหาแบบใดที่ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง นอกจากนี้ เป็นการรู้ทันอารมณ์ความรู้สึก และนิสัยของตนว่า เป็นจุดอ่อนที่สร้างความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ง่ายหรือไม่ เช่น เป็นคนใจร้อน โกรธง่าย จุกจิก ฯลฯ อาจใช้ชุดคำศัพท์หรือชุดคำถามจำพวก
ยุติธรรมหรือไม่
- หากเราทำเช่นนี้แล้ว...เขาจะรู้สึกอย่างไร
- หากเขาทำเช่นนั้นกับเรา...เราจะรู้สึกอย่างไร
เป็นต้นเพื่อฝึกให้ผู้เรียนคิดถึงความรู้สึกผู้อื่น
ที่สำคัญ ระหว่างฝึกทักษะภาคปฏิบัติ ครูจะไม่ตัดสินความคิดเห็นผู้เรียนว่าดีหรือไม่ดี แต่พยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดให้ลึกที่สุด โดยให้ความสำคัญในเรื่องการเชื่อมโยงเหตุและผล หากครูรีบตัดสินความคิดของผู้เรียนมาเกินไป ผู้เรียนจะสร้างกลไกการป้องกันตนเอง และไม่กล้าแสดงความคิด
ทักษะการแก้ปัญหา เป็นทักษะที่จำเป็นต้องสร้างในเด็กไทย เพื่อให้เด็กไทยมีความสามารถในการเผชิญปัญหา มิใช่เพิกเฉยต่อปัญหา หนีปัญหา หรือแก้ปัญหาด้วยวิธีการไม่เหมาะสม จนเกิดผลเสียต่อตนเองหรือส่วนรวมได้ ซึ่งจะส่งผลดีในอนาคตคือ ประเทศจะมีคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาให้กับประเทศ
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)
credit by www.kriengsak.com
No comments:
Post a Comment