Tuesday, April 17, 2012

นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกับการตีความทฤษฎีสองสูง

นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกับการตีความทฤษฎีสองสูง

ในช่วงเวลาที่กำลังเข้าใกล้ฤดูกาลเลือกตั้งในช่วงกลางปีนี้ พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มเข้าสู่โหมดของ
การเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โดยชูธงประกาศนโยบายแรกออกมาคือ
การขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี นโยบายนี้ทำให้ผมคิดถึง “ทฤษฎีสอง
สูง”
 ที่เจ้าสัวธนินท์แห่งซีพีได้เสนอไว้ ซึ่งมีแนวคิดในการเพิ่มเงินเดือนและค่าจ้างแรงงานควบคู่ไปกับการ
เพิ่มราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร โดยเชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น โดยที่ประชาชนทั่วไป
ไม่ได้รับผลกระทบจากข้าวของที่แพงขึ้น เนื่องจากมีรายได้สูงขึ้น

           ทฤษฎีดังกล่าวมีแนวความคิดที่น่าสนใจ และทำให้ผมเกิดคำถามว่า การตีความทฤษฎีสองสูงควร
มีนัยในลักษณะที่เป็นเครื่องมือ (mean) หรือเป็นเป้าหมาย (end) ซึ่งผมเห็นว่า การเพิ่มเงินเดือนควรเป็น
เป้าหมายไม่ใช่เครื่องมือและการเพิ่มราคาสินค้าควรเป็นเครื่องมือที่ไม่ขัดแย้งกับกลไกตลาด

           หากพิจารณาด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนแรงงานและราคาสินค้ามีลักษณะเป็นผลหรือเป้าหมายมากกว่าเป็นเหตุหรือเครื่องมือ โดยปัจจัยที่กำหนดค่าจ้างแรงงานของประเทศหรือเศรษฐกิจใดๆ เป็นผลจากโครงสร้างของปัจจัยการผลิตในประเทศนั้นๆ โดยประเทศที่มีจำนวนแรงงานมากจะมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำ ซึ่งทำให้มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น แต่ประเทศที่มีทุนมากจะมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้น ในขณะที่ราคาสินค้าถูกกำหนดด้วยกลไกตลาด ซึ่งเป็นตามอุปสงค์และอุปทานของสินค้านั้นๆ

           ความพยายามทำให้ค่าจ้างแรงงานและราคาสินค้าเป็นเครื่องมือ โดยไม่สอดคล้องกับโครงสร้าง
ปัจจัยการผลิตหรือกลไกตลาดย่อมทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูงมาก และอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่าผลดี

           ตัวอย่างเช่น การกำหนดค่าจ้างแรงงานในระดับสูงในขณะที่ประเทศมีแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก
จะทำให้ธุรกิจที่อยู่ในระบบมีต้นทุนสูงขึ้นทันที ธุรกิจจำนวนหนึ่งอาจต้องลดขนาดกิจการหรือปิดกิจการลง
เพราะแข่งขันไม่ได้ ธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ธุรกิจ
อีกส่วนหนึ่งต้องหันไปใช้แรงงานต่างด้าวหรือออกนอกระบบเพื่อจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ทางการกำหนด ขณะที่
ธุรกิจบางส่วนเท่านั้นที่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตไปใช้เครื่องจักรแทนแรงงานเพราะแรงงานฝีมือใน
ประเทศยังมีจำนวนจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพรวม คือ ระบบเศรษฐกิจอาจมีขนาดเล็กลงเพราะกิจการ
จำนวนมากต้องปิดตัวลง หรือย้ายฐานการผลิตออกไป แรงงานจำนวนมากต้องตกงานหรือถูกปลดออกจาก
งาน ถึงแม้ว่าแรงงานในระบบจะมีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น แต่ค่าจ้างเฉลี่ยทั้งประเทศอาจลดลง เพราะแรงงาน
นอกระบบจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและ ยังคงรับค่าจ้างแรงงานในระดับต่ำกว่าอัตราค่าจ้างที่ทางการกำหนด
หรืออาจได้รับค่าจ้างต่ำลงกว่าระดับค่าจ้างเดิมเพราะกิจการปิดตัวไปมากทำให้ความต้องการแรงงานลดลง

           เช่นเดียวกับการเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งรัฐบาลจะต้องแทรกแซงกลไกตลาด โดยการกำหนดเพดาน
ราคาซื้อขายสินค้า หรือจำกัดปริมาณการผลิตและปริมาณการนำเข้าสินค้า แต่การแทรกแซงตลาดดังกล่าว
จะทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด (excess supply) เพราะราคาที่สูงขึ้นจะทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจผลิต
สินค้าออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคต้องลดปริมาณการบริโภคลง (แม้ทฤษฎีสองสูงระบุว่า การเพิ่ม
ค่าจ้างแรงงานจะทำให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมีแรงงานในระบบเท่านั้นที่มีค่าจ้าง
เพิ่มขึ้น แต่ค่าจ้างแรงงานโดยรวมอาจจะลดลงดังที่วิเคราะห์ในย่อหน้าที่แล้ว) ซึ่งกลไกตลาดจะปรับเข้าสู่
ดุลยภาพทำให้ราคาสินค้าต่ำลงในที่สุดเว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลต้องจ่ายต้นทุนในการอุดหนุนผู้บริโภคหรือต้นทุนการควบคุมและตรวจสอบการลักลอบผลิต การนำเข้าและการซื้อขายสินค้าในตลาดมืด

           หากทฤษฎีสองสูงถูกตีความในลักษณะที่เป็นเครื่องมือแทรกแซงกลไกตลาด น่าจะไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจไทย เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปิดเสรีทำการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆค่อนข้างมากแล้ว โดยมีสัดส่วนการส่งออกที่สูงมากกว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประกอบกับสินค้าเกษตรของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีทิศทางราคาเป็นไปตามราคาตลาดโลก การแทรกแซงกลไกตลาดจะสร้างต้นทุนมหาศาลทั้งต่อรัฐบาล ผู้ประกอบการและแรงงานดังที่ได้กล่าวแล้วแต่หากทฤษฎีสองสูงถูกตีความในลักษณะที่เป็นเป้าหมาย ผมเห็นด้วยว่า เราควรตั้งเป้าหมายให้ประชาชนไทยมีรายได้สูงขึ้นโดยวิธีการหนึ่งคือการทำให้สินค้าของไทยมีราคาสูงขึ้นด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มสร้างความแตกต่าง และนวัตกรรมให้กับสินค้าไทย (ไม่ใช่การแทรกแซงกลไกตลาด)
           แต่กระนั้นการทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะสามารถเพิ่มรายได้ของประชาชนได้
แต่ยังมีวิธีการอื่นๆ อีก เช่น การเพิ่มผลิตภาพหรือผลผลิตต่อไร่ของภาคเกษตร การเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน
การลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น ผมจึงเห็นว่า การตีความทฤษฎีสองสูงที่เหมาะสมกับประเทศไทยควรเป็นดังนี้ สูงที่หนึ่ง คือ รายได้สูงขึ้นน่าจะมีนัยในเชิงเป้าหมายไม่ใช่เครื่องมือ ส่วนสูงที่สอง คือ ราคาสูงขึ้นน่าจะมีนัยในเชิงวิธีการที่ไม่แทรกแซงกลไกตลาดด้วยเหตุนี้ หากนโยบายเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมี ลักษณะที่เป็น
เครื่องมือที่กำหนดลงมาจากรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงความสอดคล้องกับกลไกตลาดแล้ว ผลของนโยบายนี้
ก็น่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม.. 

No comments:

Post a Comment