Thursday, November 18, 2010

sukk.araya prof.Kriengsak Chareonwongsak : ป้องกันทำแท้ง 2




sukk.araya is moved by the inspiration of
my teachers,
my friends and  



-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ข่าวการพบซากทารกจากการทำแท้งที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนนับ 1000 ศพ แสดงถึงปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เป็นสิ่งที่น่าเสียใจที่สังคมให้ความสำคัญกับดารา แต่ที่สำคัญมากยิ่งกว่าคือ ทารกที่เสียชีวิตจำนวนมากนั้นเกิดจากวัยรุ่นที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ
การแก้ไขนอกจากโดยสถาบันครอบครัวแล้ว ยังต้องอาศัยสถาบันหลักคือ สถาบันการศึกษาร่วมด้วย
บทความนี้ท่านได้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2008 จึงขอนำกลับมานำเสนออีกครั้ง
------------------------------------------------------------------------------------------------
ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
  • วัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการปรับตัวทั้งด้านร่างกาย ความคิด และจิตใจ เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ฉะนั้นโดยธรรมชาติวัยรุ่นจึงเผชิญกับกับการเปลี่ยนแปลงของตนเองอยู่มาก อีกทั้งการต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพสังคมยุคที่ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี และวิทยาการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วัยรุ่นในฐานะที่เป็นสมาชิกในสังคมที่ต้องอยู่ในสภาพสังคมดังกล่าว อาจประสบปัญหาในการปรับตัวในหลายด้านพร้อมกัน ประกอบกับเด็กในช่วงวัยรุ่นนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน และสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัดมากขึ้น ทำให้พ่อแม่อาจไม่มีเวลาในการอบรมสั่งสอนหรือใกล้ชิดลูกมากเท่ากับในอดีตจึงเป็นเหตุให้พ่อแม่และคนในสังคมได้ถ่ายโอนความรับผิดชอบไปให้กับโรงเรียนโดยไม่รู้ตัว โรงเรียนจึงทำหน้าที่แทนครอบครัว โดยมีความสำคัญเทียบเท่ากับครอบครัวที่สองของวัยรุ่น
  • ปัจจุบันเรามีวัยรุ่นอายุระหว่าง ๑๑–๑๗ ปีที่อยู่ในความดูแลของสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมากถึงกว่า ๖ ล้านคนโดยประมาณจากจำนวนผู้เรียนทั้งหมดทุกประเภททุกระดับกว่า ๑๑ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ดังนั้นสถานศึกษาจึงควรให้ความสำคัญในบทบาทการรับผิดชอบต่อการพัฒนาผู้เรียนวัยรุ่นให้มากปัญหาสำคัญของวัยรุ่นในปัจจุบัน
  • ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า วัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางทางกายภาพและสังคมอย่างมาก จึงอาจส่งผลให้วัยรุ่นบางส่วนที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและดีเพียงพอ อาจก่อปัญหาหลายประการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
    การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
  • ปัจจุบันวัยรุ่นส่วนหนึ่งมีมุมมองเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน เป็นเรื่องไม่เสียหาย เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล ผนวกกับเป็นวัยแห่งการอยากทดลอง ชอบการท้าทาย แต่ขาดประสบการณ์และความเข้าใจที่ลึกซึ้งและรอบด้านในเรื่องเพศและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากการสำรวจของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติพบว่า เด็กไทยมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น วัยรุ่นหญิงในเมืองร้อยละ ๕๐ มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และวัยรุ่นหญิงร้อยละ ๖๖ มีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนชายโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย จึงมีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ตามมา และนำไปสู่การทำแท้งที่ผิดกฎหมาย ปัญหาโรคเอดส์ และอื่น ๆ
  • นอกจากนั้นผู้แทนองค์การกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ นาย บอล โกปาล กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการตั้งครรภ์และทำแท้งในวัยรุ่นสูงมาก โดยทำแท้งปีละประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน ๑ ในทุก ๓ รายของการเกิดมีชีพการติดสิ่งเสพติดและสิ่งมืนเมา
  • จากการสำรวจข้อมูลของนักเรียน ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในสังกัดกรมสามัญศึกษา และกรมอาชีวศึกษาพบว่า นักเรียนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีประมาณร้อยละ ๔.๕ ของผู้เรียนทั้งหมด ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มผู้เรียนวัยรุ่น นอกจากนั้นยังมีปัญหาการเสพสิ่งมึนเมาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บุหรี่ เหล้า และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ยาเสพติดและสิ่งมึนเมาต่าง ๆ ได้กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวัยรุ่นซึ่งเป็นอนาคตของชาติมากขึ้นทุกขณะการเล่นพนัน
  • วัยรุ่นเป็นวัยที่รักความสนุกสนาน ความตื่นเต้น และความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ จึงไม่แปลกที่มักจะชอบกิจกรรมการพนัน อาทิ ไพ่ และการพนันบอล ฯลฯ ตัวอย่างในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลกเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าการพนันบอลได้กลายเป็นสิ่งที่ลุกลามเข้าไปในชีวิตของวัยรุ่นมากขึ้น มีการเสียพนันบอลและการกู้หนี้ยืมสินกันอย่างกว้างขวาง บางคนถูกเจ้าหนี้ตามไปทวงถึงที่บ้าน ซึ่งผู้ปกครองต้องชำระหนี้ให้ หากไม่สามารถชำระหนี้ได้จะมีการข่มขู่ทำร้าย หรือบางรายหันไปประกอบอาชญากรรมเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ดังกล่าว เป็นต้น
    การเที่ยวกลางคืน
  • วัยรุ่นเป็นจำนวนมากมีพฤติกรรมการเที่ยวกลางคืน ซึ่งมีจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการรักสนุก ความต้องการคลายความเครียดหรือคลายความเหงา ที่มักจะมีสาเหตุมาจากการขาดความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่นจากครอบครัว ทำให้วัยรุ่นหาทางออกด้วยการเที่ยวสถานบันเทิง ส่งผลให้การเรียนตกต่ำ และมีแนวโน้มจะพ่วงปัญหายาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ที่ผิด การก่ออาชญากรรม และการใช้ความรุนแรง เป็นต้นการใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา
  • ปัจจุบันสภาพปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและสังคมที่มีเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการที่สื่อนำเสนอภาพและเนื้อหาที่มีความรุนแรงของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต และเกมส์บางประเภท สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมของผู้เรียนวัยรุ่นอย่างมาก เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงที่สามารถซึมซับและเลียนแบบความคิดและพฤติกรรม จากการใช้ความรุนแรงของพ่อแม่ คนในสังคมที่มักปรากฏตามสื่อต่าง ๆ หรือการเลียนแบบนักแสดงบู๊ที่ชื่นชอบ เป็นต้น เป็นผลให้วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่มักใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เช่น การก่อการทะเลาะวิวาท ชกต่อย ยกพวกตีกัน และอาจไปถึงขั้นการก่ออาชญากรรมได้ เป็นต้น
  • จากสภาพปัญหาของวัยรุ่นดังกล่าว ที่ผ่านมาสถานศึกษาต่างก็พยายามให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาผู้เรียนวัยรุ่นมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การหันกลับมาทบทวนเนื้อหาหลักสูตรด้วยการบรรจุวิชาเพศศึกษาไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน มีมาตรการจัดสารวัตรนักเรียนไว้เพื่อป้องกันและสอดส่องการหนีเรียน การเที่ยวโสเภณี การเล่นพนัน การเที่ยวกลางคืน ฯลฯ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและนำแนวคิดเรื่องการบันทึกความดีของผู้เรียนไว้ในสมุดรายงานความประพฤติ จัดแนะแนวการเรียนและการอาชีพในอนาคต หรือแม้กระทั่งการใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดในโรงเรียนเพื่อคอยสอดส่องและควบคุมพฤติกรรมของนักเรียนวัยรุ่น
  • อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากสถานศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับธรรมชาติและความต้องการของผู้เรียนในกลุ่มวัยรุ่นอย่างแท้จริง และไม่ได้เป็นแนวทางแก้ปัญหาในเด็กวัยรุ่นได้ในระยะยาว ตัวอย่างเช่น การตั้งกฎระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมายที่เข้มงวดมากแล้วถ้าหากเด็กคนไหนทำผิดระเบียบก็จะหักคะแนนและทำโทษ การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนที่เน้นเพียงด้านวิชาการ แต่ไม่ส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรมที่หลากหลายตามความสนใจของผู้เรียนกลุ่มวัยรุ่นเท่าที่ควร ฉะนั้นสถานศึกษาจึงควรพัฒนาแนวทางอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างได้ผลในระยะยาวแนวทางแก้ปัญหาวัยรุ่นของสถานศึกษา
1. ประยุกต์ประเด็นร่วมสมัยในเนื้อหาวิชาเรียน
  • สภาพสังคมที่วัยรุ่นในปัจจุบันประสบมีความซับซ้อนมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นโรงเรียนควรจะสอนเนื้อหาที่ช่วยให้วัยรุ่นรู้เท่าทันและสอดแทรกค่านิยมหรือความคิดที่ถูกต้องในเชิงคุณธรรมจริยธรรมลงไป เพื่อเป็นปราการป้องกันค่านิยมที่ผิดและวิถีชีวิตที่ไม่ส่งเสริมการเรียนและความสำเร็จในอนาคต โดยในแต่ละคาบเรียนทุกวิชาควรจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ถกประเด็นร่วมสมัยที่เป็นปัญหาวัยรุ่นในสังคม ทำการบ้านหรือศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของปัญหาวัยรุ่นร่วมกัน จะช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งและกว้างขวางมากขึ้น ทำให้นักเรียนมีจุดยืนที่มั่นคงทางความคิด มีวิจารณญาณในการตัดสินใจมากพอที่จะไม่หลงไปกับกระแสสังคมเท่านั้น
2. จัดกิจกรรมหลากหลายตอบสนองความสนใจ

  • เด็กวัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลังสร้างสรรค์และต้องการแสดงออก หากโรงเรียนไม่จัดเวทีช่องทางในการแสดงออกอย่างถูกต้องและเหมาะสม เด็กวัยรุ่นจะหาช่องทางด้วยตนเองซึ่งมีโอกาสที่จะถูกล่อลวงจากกระแสสังคมที่ไม่ดีงามได้ เพราะจำกัดในความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ และวิจารณญาณที่รอบคอบ ประกอบกับต้องการได้รับการยอมรับจากเพื่อน และได้ขึ้นชื่อว่าก้าวทันแฟชั่นของสังคม




  • ดังนั้นโรงเรียนควรจะสรรหากิจกรรมที่มีความหลากหลาย โดยควรศึกษาความต้องการของวัยรุ่น ผลักดันให้วัยรุ่นสนใจสิ่งที่เป็นประโยชน์ และควรให้เวลาและทรัพยากรสนับสนุนอย่างเพียงพอ เช่น จัดตั้งชมรมตามความสนใจของวัยรุ่น โดยให้ผู้เรียนกลุ่มนี้ได้บริหารจัดการกันเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนวัยรุ่นได้ปลดปล่อยศักยภาพในขอบข่ายที่โรงเรียนสามารถดูแลได้ เช่น ชมรมเต้นรำ ชมรมร้องเพลง (คาราโอเกะ) ชมรมเชียร์ลีดเดอร์ ชมรมการแสดง ชมรมนักข่าว ชมรมศิลปะการแสดงและการพูด ชมรมคอมพิวเตอร์ ชมรมถ่ายภาพ ชมรมกีฬา การจัดให้มีวิชาเลือกด้านแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เป็นต้น อีกทั้งโรงเรียนสามารถกระตุ้นความสนใจของวัยรุ่นด้วยการจัดกิจกรรมการประกวดร้องเพลง เต้นรำ วงดนตรี เดินแบบเพื่อการกุศล ฯลฯ ขึ้นโดยร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกอื่น ๆ เป็นต้น






    • 3. ให้การแนะแนวและคำปรึกษา
      • นอกเหนือจากการสอนในชั้นเรียนแล้ว โรงเรียนควรจะใช้งานแนะแนวเป็นเครื่องมือเชิงรุกสำหรับวางกรอบกิจกรรม การวางแผนการเรียนและแผนชีวิตของนักเรียนที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น โดยจัดครูที่มีความเชี่ยวชาญหรือจบสาขาด้านจิตวิทยาการแนะแนวมาโดยตรงเป็นผู้ให้คำปรึกษาและมีส่วนช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาในโรงเรียน เช่น ให้คำแนะนำเรื่องการเลือกเรียนต่อ การวางตัวกับเพศตรงข้าม การใช้เวลากับครอบครัว การป้องกันตนเองจากการติดยาเสพติด ให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง มีเงินทุนจัดสรรไว้เฉพาะเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหา มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับภาคีอื่น ๆ ร่วมกับโรงเรียนเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาวัยรุ่น เป็นต้น
      4. เป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมนอกเวลาราชการ
      • สถานศึกษาควรมีส่วนสร้างและส่งเสริมกิจกรรมสำหรับคนในชุมชนร่วมถึงกลุ่มผู้เรียนที่เป็นวัยรุ่นนอกเวลาราชการด้วย เนื่องจากโรงเรียนมีความพร้อมในหลายด้าน เช่น สถานที่ สิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ในการทำกิจกรรม โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนเข้ามาใช้สถานที่และอุปกรณ์เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการห้องสมุด สนามกีฬา การจัดกิจกรรมของชมรมต่าง ๆ โดยกำหนดให้มีผู้คอยควบคุม ดูแลความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งอาจเปิดรับอาสาสมัครจากคนในท้องถิ่น หรือให้นักเรียนที่เป็นรุ่นพี่มีส่วนดูแลสถานที่และกิจกรรมช่องนอกเวลาราชการ โดยไม่ต้องจ้างบุคลากรเพิ่ม
      • อย่างไรก็ตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาและการพัฒนาวัยรุ่นให้ประสบความสำเร็จนั้นมิได้เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาเท่านั้น แต่ทุกสถาบันในสังคมควรมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันไม่ว่าจะเป็น รัฐ สื่อมวลชน และชุมชน ฯลฯ โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันพื้นฐานที่ใกล้ชิดกับวัยรุ่นมากที่สุด ที่ต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหาและแนะแนวทางสำหรับผู้เรียนวัยรุ่นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อสร้างกลุ่มผู้เรียนวัยรุ่นนี้ให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศต่อไป
      บทความ “โรงเรียนกับวัยรุ่นยุคใหม่”

      1 comment:

      1. แล้วพวกเด็กวัยรุ่นที่สอนยาก ทำอย่างไรดีล่ะคับ

        ReplyDelete