Sunday, October 10, 2010

Kriengsak Chareonwongsak sukk.araya : โรคภูมิแพ้ ตอนที่1




sukk.araya is moved by the inspiration of
my teachers,
my friends and  



-----------------------------------------------------------------------------------------------------------


โรคภูมิแพ้ ตอนที่ 1

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ความรู้สู่ประชาชน Siriraj E-Public Library คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/

----------------------------------------------------------------------------------------------------

โรคภูมิแพ้ (ตอนที่ 1)
ผศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน
ภาควิชาโสต  นาสิก  ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
            โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย   จากการสำรวจพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าแต่ก่อนมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ      โรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ    ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก  ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งจะเกิดอาการเฉพาะในคนที่แพ้เท่านั้น  ในคนปกติจะไม่เกิดอาการ สาเหตุเชื่อว่า เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม    ดังนั้นจึงอาจมีคนอื่นในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยได้    สิ่งแวดล้อมซึ่งแย่ลงเรื่อยๆ ในปัจจุบันก็เป็นปัจจัยเสริมทำให้อาการของโรคภูมิแพ้มากขึ้น 
            โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย  อาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคภูมิแพ้ที่เป็น ซึ่งพยาธิสภาพนั้นเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานมากเกินไปทำให้เยื่อบุที่อวัยวะต่างๆ มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไป ทำให้เกิดการตอบสนองที่มากผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ เช่น
           ถ้าเป็นที่ตา เรียกว่า เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic conjunctivitis) ผู้ป่วยจะมีอาการคันและเคืองตา  ตาแดง  น้ำตาไหล  หนังตาบวม  แสบตา
           ถ้าเป็นที่จมูก เรียกว่า โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือโรคแพ้อากาศ ผู้ป่วยจะมีอาการจาม  คันจมูก  น้ำมูกไหลออกมาทางจมูก หรือไหลลงคอ  คัดจมูก  คันเพดานปากหรือคอ
           ถ้าเป็นที่หลอดลม เรียกว่า โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหอบหืด (asthma) ผู้ป่วยจะมีอาการ ไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะเวลาตอนกลางคืน   ตอนเช้ามืด หรือขณะออกกำลังกาย  หรือขณะเป็นไข้หวัด
           ถ้าเป็นที่ผิวหนัง เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ผู้ป่วยจะมีอาการคัน  มีผดผื่นตามตัว  ผื่นมักแห้ง แดง มีสะเก็ดบางๆ หรือมีน้ำเหลืองแห้งกรังปกคลุมอยู่  ในเด็กเล็ก มักเป็นที่แก้ม, ก้น, หัวเข่าและข้อศอก  ในเด็กโตมักเป็นที่ข้อพับของแขนและขา  ในรายที่เป็นเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณที่เป็นจะหนาตัวขึ้นและมีสีคล้ำขึ้น    นอกจากนั้นผิวหนังอาจเกิดการอักเสบจากการสัมผัสกับสารบางชนิดที่แพ้ได้ เช่น ผงซักฟอก  เครื่องสำอาง    ผิวหนังอาจมีการอักเสบเป็นตุ่มนูนคัน หรือใหญ่เป็นปื้นนูนแดง และคันมากที่เรียกว่า ลมพิษ  ซึ่งมักจะเกิดจากการแพ้อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล หรือ แพ้แมลงกัดต่อย หรือแพ้ยา
           ถ้าเป็นที่ระบบทางเดินอาหาร เรียกว่า โรคแพ้อาหาร (food allergy) ผู้ป่วยจะมีอาการ อาเจียน  คลื่นไส้  ท้องเสีย ปากบวม  ปวดท้อง  ท้องอืด อาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ (เช่น หอบหืด, แพ้อากาศ) และผิวหนัง (เช่น ผื่นคัน, ลมพิษ) ร่วมด้วย  อาหารที่เป็นสาเหตุได้บ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเล ผักและผลไม้บางชนิด ผงชูรส สารกันบูด สารแต่งกลิ่นและสี
อาการของโรคภูมิแพ้จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้อยกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ, ขาดสมาธิทำให้เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่, ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้ตามปกติ  เสียบุคลิกภาพที่ดีในการเข้าสังคม    นอกจากนั้นการที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ไซนัสอักเสบ     ผนังคอและต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง  ริดสีดวงจมูก  หูชั้นกลางอักเสบโดยเฉพาะในเด็ก     ภาวะมีน้ำขังในหูชั้นกลาง    การเจริญเติบโตของรูปหน้าผิดปกติในเด็กเล็ก  จมูกไม่ได้กลิ่น     นอนกรน   โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง  โรคผิวหนังติดเชื้อ  หรือถ้าเป็นมากอาจมีอาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ กล่องเสียงและหลอดลมทำให้หายใจไม่ได้  และอาจทำให้เกิดอาการช็อค (anaphylactic shock) ได้   การให้การรักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง     นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว  ยังสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้ด้วย


อ่านต่อ โรคภูมิแพ้ ตอนที่ 2

No comments:

Post a Comment