Wednesday, April 13, 2011

Kriengsak chareonwongsak : ลูกถูกเพื่อนแกล้ง 3




sukk.araya is moved by the inspiration of
my teachers,
my friends and  



-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

รับมือ ลูกถูกเพื่อนแกล้ง ที่โรงเรียน 3


นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

สอบถามลูกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 
ว่าเหตุการณ์เป็นไปอย่างไร ลูกกำลังทำอะไรอยู่  ใครเป็นคนเริ่มต้นก่อน แล้วลูกตอบโต้อย่างไร  เพื่อนที่มารังแกพูดจาหรือตอบโต้กลับอย่างไร ฯลฯ  เพราะบางครั้งสิ่งที่ลูกมาฟ้องว่าถูกเพื่อนแกล้งนั้นอาจไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมดก็ได้ ลูกอาจเป็นคนเริ่มก่อน รังแกเพื่อนก่อนก็ได้  พ่อแม่จึงควรฟังหูไว้หู สอบถามเหตุการณ์อย่างรอบคอบเสียก่อนแล้วจึงค่อยชี้แนะลูกถึงวิธีการรับมือ  โดยอาจไปสอบถามคุณครูหรือเพื่อน ๆ ของลูกที่เห็นเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไรเพื่อสามารถช่วยเหลือแนะนำลูกได้อย่างตรงจุดจริง ๆ  
อย่างไรก็ตามพ่อแม่ต้องคอยสังเกตถึงความผิดปกติของลูกด้วย เช่น มีรอยฟกช้ำ เลือดออก ตามร่างกายหรือไม่  ของหายเป็นประจำหรือไม่  ลูกผอมลงและบ่นหิวเสมอ ทั้ง ๆ ที่ได้เงินค่าขนมไปโรงเรียนอย่างเพียงพอ ฯลฯ  เพราะในบางกรณีเด็กบางคนเมื่อถูกเพื่อนแกล้งไม่กล้าบอกพ่อแม่เพราะอาจถูกเพื่อนขู่หรือกลัวว่าพ่อแม่จะหาว่าตนอ่อนแอยอมให้เพื่อนแกล้งแล้วมาทำโทษตนต่ออีกซ้ำสอง  
สอนลูกถึงวิธีการตอบสนองที่ถูกต้อง   
ลูกมักเลียนแบบอย่างการตอบสนองของพ่อแม่ พ่อแม่ทำอย่างไรชี้แนะลูกอย่างไรลูกมักเชื่อฟังและยึดเอาคำสอนของพ่อแม่เป็นหลักในการตอบสนองต่อปัญหาต่าง ๆ  พ่อแม่จึงควรตระหนักว่าสิ่งที่ท่านสอนนั้นมีผลต่อชีวิตของลูกในระยะยาวแน่นอน  ดังนั้นก่อนจะแนะนำสั่งสอนจึงควรตั้งสติ คิดไตร่ตรองให้ดีด้วยความระมัดระวัง  
ในขั้นแรกพ่อแม่ควรสอนให้ลูกคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน  ไม่ควรช่วยเหลือหรือเสนอแนวทางทันทีแต่ฝึกให้ลูกรู้จักคิดเพื่อรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน เพราะเราไม่ได้อยู่กับลูกและคอยช่วยเหลือลูกได้ตลอดเวลา หลังจากฟังแนวทางการแก้ปัญหาของลูกแล้วจึงค่อยชี้แจงถึงผลดีผลเสียของการตอบสนองแบบต่าง ๆ พร้อมเสนอแนะว่าการตอบสนองที่ชาญฉลาดโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงนั้นเป็นอย่างไรพร้อมยกตัวอย่างในภาคปฏิบัติจริงให้ลูกได้นำไปใช้  เช่น  เดินหนี  ไม่สนใจ บอกตรง ๆ ว่าไม่ชอบ  หากทำอีกจะฟ้องครู  ฯลฯ  โดยติดตามผลลูกเป็นระยะว่าลูกสามารถจัดการปัญหาได้อย่างประสบผลสำเร็จหรือไม่ หากเพื่อนที่ชอบแกล้งยังคงตามรังควานไม่เลิกรา หรือครูที่โรงเรียนไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ พ่อแม่อาจต้องไปพบคุณครูของลูกที่โรงเรียนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  ไปทำความรู้จักกับเพื่อนของลูกคนนั้นพูดคุยสังเกตพฤติกรรม พร้อมร่วมมือกับครูในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ในกรณีที่พ่อแม่พบว่าลูกถูกแย่งของเล่นต่อหน้าต่อตา  พ่อแม่สามารถเข้าไปสอนในเรื่องสิทธิและการแบ่งปัน ว่าของนี้เพื่อนกำลังเล่นอยู่ ไปแย่งจากมือไม่ได้ให้ไปเล่นของเล่นชิ้นอื่นก่อน ให้คืนเพื่อนไป และเมื่อลูกเล่นเสร็จแล้วควรแบ่งปันให้เพื่อนเล่นบ้าง  รวมทั้งสอนทั้งคู่ไม่ให้แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

No comments:

Post a Comment